สำหรับบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ต้องการนำเข้าสินค้าที่ใช้สำหรับรักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้แก่ ยา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ต้าน COVID-19 ที่บริจาคให้แก่สถานพยาบาลของทางราชการ หน่วยงานของรัฐ และองค์การหรือสถานสาธารณกุศล สำหรับการบริจาคตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรตระหนักถึงความสำคัญของการสนับสนุนการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ ดังนั้น เพื่อให้การสนับสนุนความช่วยเหลือจากภาคเอกชนเป็นไปอย่างต่อเนื่องในการร่วมมือ ช่วยกันแก้ไขการแพร่ระบาดของ COVID - 19 อย่างมีประสิทธิภาพ กรมสรรพากรจึงได้เสนอขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการนำเข้ายา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ต้าน COVID - 19 สำหรับบริจาคเป็นสาธารณกุศล
นอกจากยกเว้น Vat นำเข้าเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ใช้สำหรับรักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่บริจาคให้แก่สถานพยาบาลและหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว ยังยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้โอนทรัพย์สินหรือการขายสินค้า อันเนื่องมาจากการบริจาค ซึ่งการโอนทรัพย์สินหมายถึงการบริจาคทรัพย์สินให้กับสถานพยาบาล หน่วยงานของรัฐและองค์การหรือสถานสาธารณกุศล
เงื่อนไขยกเว้น VAT นำเข้าเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ ดังต่อไปนี้
- ผู้นำเข้าต้องระบุข้อความ “บริจาค COVID19” ในใบขนส่งสินค้าขาเข้า
- สถานพยาบาลของทางราชการที่รับบริจาคต้องได้รับการรับรองและได้รับรหัส หน่วยงานบริการสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุข
- องค์การหรือสถานสาธารณกุศลที่รับบริจาค ต้องเป็นหน่วยงานต่อไปนี้
(1.) สภากาชาดไทยหรือ
(2.) องค์การหรือสถานสาธารณกุศล หรือสถานพยาบาล
- ผู้ใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษี ต้องมีเอกสารหลักฐานพร้อมให้เจ้าพนักงานตรวจสอบดังนี้
(1.) ใบขนส่งสินค้าขาเข้า
(2.) เอกสารเป็นหนังสือจากผู้รับบริจาค ยกเว้นเป็นการบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (E-Donation) ทั้งนี้ไม่ว่าจะบริจาคผ่านช่องทางใดก็ตาม ต้องระบุจำนวนและมูลค่าของสินค้านำเข้าที่บริจาคด้วย
- ต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้า ที่ได้รับการยกเว้นมาหักรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ของบริษัท
การขยายเวลาการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม การนำเข้ายาและเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) เพื่อการบริจาคเป็นสาธารณกุศล จากมาตรการภาษีเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2565 กรมสรรพากรเชื่อว่าจะช่วยสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมกับภาครัฐในการร่วมมือกันแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพของประชาชนตลอดจนเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวสรุป