ผู้เสียภาษีหลายคนอาจกำลังยื่นภาษีและรายการลดหย่อนภาษีผิดพลาด ทำให้การคืนภาษีเกิดความล่าช้า ซึ่งในหมวดของค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดา/มารดา พบข้อผิดพลาดของยื่นภาษีหลายข้อด้วยกันดังนี้
1. อายุของบิดามารดาที่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้
บิดา มารดา จะต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป บุตรถึงจะสามารถนำมาหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกันกับผู้มีเงินได้และหากผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในไทย ให้หักลดหย่อนได้เฉพาะบิดามารดาที่อยู่ในไทย
บิดามารดาต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
ตัวอย่างลดหย่อนไม่ได้ : บิดามารดา เกิดปี พ.ศ. 2506 ในปีภาษี 2565 บิดามารดา มีอายุ 59 ปี บุตรจะไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้
ตัวอย่างลดหย่อนได้ : บิดามารดา เกิดปี พ.ศ. 2505 ปีภาษี 2565 บิดามารดา มีอายุ 60 ปี บุตรสามารถนำมาหักลดหย่อนได้
2. หักลดหย่อนบิดามารดาซ้ำ
เนื่องจากบุตรหลายคนร่วมกันอุปการะเลี้ยงดู บิดามารดา ซึ่งกฎหมายให้สิทธิหักลดหย่อนแก่บุตรเพียงคนเดียวเท่านั้นโดยใช้ แบบ ล.ย.03
ตัวอย่างเช่น : มีบุตร 2 คน (ก. กับ ข.) มีวิธีการใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาดังนี้
1.ถ้า ก. ใช้สิทธิหักลดหย่อนทั้งบิดาและมารดา ทาง ข. จะไม่สามารถใช้สิทธิได้ในปีภาษีนั้น
2. แบ่งคนละคน ก. ใช้สิทธิหักลดหย่อนบิดา และ ข. ใช้สิทธิหักลดหย่อน มารดา
หมายเหตุ หากมีบุตรมากว่า 2 คนขึ้นไป บุตรแต่ละคนควรตกลงกันว่าใครจะเป็นผู้ใช้สิทธิ หากตกลงกันไม่ได้ บุตรผู้มีเงินได้ทุกคนไม่มีสิทธิหักลดหย่อน
3. เงินได้พึงประเมินในปีภาษีของบิดามารดา
บิดามารดาต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษี ที่ขอหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาท ขึ้นไป
ตัวอย่างเช่น
ถ้าบิดามารดามีเงินได้พึงประเมินคนละ 30,001 บาท ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้
ถ้าบิดามารดามีเงินได้พึงประเมินคนละ 30,000 บาท สามารถนำมาหักลดหย่อนได้
4. ระบุเลขประจำตัวประชาชนของบิดามารดา
ผู้มีเงินได้ต้องระบุเลขประจำตัวประชาชนของบิดามารดา ในแบบแสดงรายการฯ ด้วย
หลักฐานการหักลดหย่อนบิดามารดา
หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (แบบ ล.ย.03) เป็นภาษาไทย (หมายเหตุ ถ้าเป็นภาษาต่างประเทศต้องมีคำแปลภาษาไทยด้วย)
หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเดิมท่านสามารถเข้าไปในเว็บไซต์ www.rd.go.th > อ้างอิง > ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร > เกี่ยวกับภาษีเงินได้ฉบับที่ 136