คำถามของคนที่เปิดร้านอาหารที่ถามกันมาเยอะ ๆ คือเปิดร้านอาหารต้องจดทะบียนพาณิชย์หรือไม่?

นี่คือสิ่งที่ทุกคนต้องเข้าใจ หากคุณทำเป็นธุรกิจ มีรายได้เข้ามาประจำ มีที่ขายเป็นหลักแหล่ง จำเป็นต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบันมีร้านอาหารจำนวนมากที่ไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์หรือทำทุกอย่างให้ถูกต้อง การจดทะเบียนพาณิชย์มี 2 รูปแบบด้วยกัน ก็คือแบบบุคคลธรรมดา และแบบนิติบุคคล
จดทะเบียนพาณิชย์แบบบุคคลธรรมดา
จดทะเบียนพาณิชย์หรือทะเบียนการค้า เหมาะสำหรับร้านอาหารทั่วไปตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง ซึ่งมีเจ้าของคนเดียวทำการเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา หรือง่าย ๆ เป็นธุรกิจภายในครอบครัวที่มีหลักแหล่ง โดยคนที่มีผลประโยชน์ร่วมกันต้องเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา เอกสารที่ต้องเตรียมมีดังต่อไปนี้
- แบบคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.)
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้านของผู้จดทะเบียนพาณิชย์
- แผนที่ตั้งของร้าน
- หนังสือมอบอำนาจ (หากเราไม่ได้ไปยื่นจดทะเบียนด้วยตนเอง)
- สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
- ชำระค่าธรรมเนียม 50 บาท
กรณีผู้ขอจดไม่ได้เป็นเจ้าของของพื้นที่/เจ้าของบ้าน ต้องมีเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่
- หนังสือให้ความยินยอมใช้สถานที่
- สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าบ้านที่เราไปขอใช้สถานที่
สถานที่จดทะเบียน
- ในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง กรุงเทพมหานครและสำนักงานเขตทุกแห่ง
- ในเขตต่างจังหวัด ยื่นจดทะเบียนได้ที่เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบลที่ร้านของเราตั้งอยู่ แล้วต้องจดทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันเริ่มประกอบกิจการ
การจดทะเบียนพาณิชย์รูปแบบนิติบุคคล
การจดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคลมีขั้นตอนยุ่งยากกว่ารูปแบบบุคคลธรรมดา เพราะถ้าเป็นนิติบุคคลจะมีกฎหมาย กฎระเบียบ และความรับผิดชอบเฉพาะ ซึ่งประเภทของการจัดตั้งธุรกิจใหม่เป็นนิติบุคคลมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือบริษัทจำกัดกับห้างหุ้นส่วนจำกัด
สถานที่จดทะเบียน
- ในเขตกรุงเทพมหานครยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่สำนักงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือที่กระทรวงพาณิชย์
- ในเขตต่างจังหวัด ยื่นจดที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดได้เลย