สำหรับบุคคลที่มีรายได้และเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ได้มีรายได้จากการทำธุรกิจจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนใด ๆ ที่มีการจดทะเบียนจัดตั้ง จะต้องยื่นแบบแสดงรายการอะไรบ้างและต้องยื่นเมื่อใด
การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มี 2 ระยะ คือ
1. "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี" เป็นการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้เฉพาะเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5,6,7 หรือ 8 ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนไม่ว่าจะมีเงินได้ประเภทอื่นรวมอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยยื่นภายในเดือนกันยายนของปีภาษีนั้น และภาษีที่เสียนี้นำไปเป็นเครดิตหักออกจากภาษีสิ้นปีได
2. "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี" เป็นการยื่นแบบแสดงรายการเงินได้พึงประเมินที่ได้รับแล้ว ในระหว่างปีภาษี โดยยื่นภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป
แบบแสดงรายการที่ใช้มีดังต่อไปนี้
ยื่นในเดือนมกราคม - มีนาคม ของปีภาษีถัดไป
ภ.ง.ด. 90 : ใช้ยื่นในกรณีมีเงินได้พึงประเมินทุกประเภท
ภ.ง.ด. 91 : ใช้ยื่นในกรณีมีเฉพาะเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1ม.40(1) ประเภทเดียว
ภ.ง.ด. 95 : ใช้ยื่นในกรณีคนต่างด้าวผู้มีเงินได้จากการาจ้างแรงงานจากสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค
ยื่นก่อนถึงกำหนดเวลาการยื่นแบบตามปกติ
ภ.ง.ด. 93 : ใช้ยื่นในกรณีมีเงินได้ขอชำระภาษีล่วงหน้า
ยื่นในเดือนกรกฎาคม - กันยายน ของปีภาษีนั้น
ภ.ง.ด. 94 : ใช้ยื่นในกรณียื่นครึ่งปีสำหรับผู้มีเงินได้พึงประเมินเฉพาะประเภทที่ 5,6,7 และ 8
ดังนั้นผู้มีเงินได้จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ตรงตามระยะเวลาที่กำหนด ถ้าหากเลยกำหนดไปแล้วหรือมีการตรวจสอบผู้มีเงินได้อาจต้องเสียค่าปรับหรือรับโทษจากการไม่ยื่นภาษี ซึ่งค่าปรับกรณียื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เมื่อพ้นกำหนดเวลา ต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถขอลดค่าปรับได้