Logo-สำนักงานบัญชี-ARAC
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักค่าใช้จ่ายอย่างไร?
Date : 30/05/2023
ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีอัตราการหักค่าใช้จ่ายมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ วันนี้เราจะมาดูกันว่าเงินได้แต่ละประเภทนั้นมีอัตราการหักค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง

เมื่อถึงเวลาที่ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องยื่นภาษี เราจะต้องรวบรวมค่าลดหย่อนและค่าใช้จ่ายทั้งหมด มาหักเพื่อเสียภาษีให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะค่าใช้จ่าย ที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคำนวณภาษี ถือเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับหักเป็นต้นทุนในการทำงาน เพื่อให้ได้เงินได้หรือรายได้สุทธินั้นมาคิดภาษีตามบัญชีอัตราภาษี โดยมีอัตราการหักค่าใช้จ่ายมากหรือน้อยตามแต่ละประเภทของเงินได้ วันนี้เราจะมาดูกันว่าเงินได้แต่ละประเภทนั้นมีอัตราการหักค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง

เงินได้พึงประเมินตามาตรา 40 (1) และ (2)

= หักค่าใช้จ่ายได้ ร้อยละ 50 ของเงินได้ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3)

= เงินได้ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ดังนี้

วิธีที่ 1 หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร

วิธีที่ 2 หักค่าใช้จ่าย ร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)

= ไม่ให้หักค่าใช้จ่าย

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5)

= การให้เช่าทรัพย์สิน เลือกหักค่าใช้จ่ายตามวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้

วิธีที่ 1 หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควร

วิธีที่ 2 หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตรา ดังนี้

       (ก) บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือแพ   : ร้อยละ 30

       (ข) ที่ดินที่ใช้ในการเกษตรกรรม                     : ร้อยละ 20

       (ค) ที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตรกรรม                 : ร้อยละ 15

       (ง) ยานพาหนะ                                      : ร้อยละ 30

       (จ) ทรัพย์สินอย่างอื่น                               : ร้อยละ 10

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6)

= เลือกหักค่าใช้จ่ายตามวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้

วิธีที่ 1 หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควร

วิธีที่ 2 หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตรา ดังนี้

       (1) การประกอบโรคศิลปะ                            : ร้อยละ 60

       (2) วิชาชีพอิสระอื่นนอกจากการประกอบโรคศิลปะ : ร้อยละ 30

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7)

= เลือกหักค่าใช้จ่ายตามวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้

วิธีที่ 1 หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควร

วิธีที่ 2 หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตรา                  : ร้อยละ 60

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8)

วิธีที่ 1  หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควร

วิธีที่ 2  หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราตามการหักค่าใช้จ่ายเฉพาะกิจการ 43 ประเภทที่ระบุต่อไปนี้

(1) การแสดงของนักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุหรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใด ๆ

(1.1) สำหรับเงินได้ส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท : อัตราหักค่าใช้จ่ายร้อยละ 60

(1.2) สำหรับเงินได้ส่วนที่เกิน 300,000 บาท : อัตราหักค่าใช้จ่ายร้อยละ 40

การหักค่าใช้จ่ายตาม (ก) และ (ข) รวมกันต้องไม่เกิน 600,000 บาท

อัตราหักค่าใช้จ่ายต่อไปนี้ หักร้อยละ 60 ทั้งหมด

(2) การขายที่ดินเงินผ่อนหรือการให้เช่าซื้อที่ดิน

(3) การเก็บค่าต๋งหรือค่าเกมจากการพนัน การแข่งขันหรือการเล่นต่าง ๆ

(4) การถ่าย ล้าง อัด หรือขยายรูป ภาพยนตร์ รวมทั้งการขายส่วนประกอบ

(5) การทำกิจการคานเรือ อู่เรือ หรือซ่อมเรือที่มิใช่ซ่อมเครื่องจักร เครื่องกล

(6) การทำรองเท้า และเครื่องหนังแท้หรือหนังเทียม รวมทั้งการขายส่วนประกอบ

(7) การตัด เย็บ ถัก ปักเสื้อผ้า หรือสิ่งอื่น ๆ รวมทั้งการขายส่วนประกอบ

(8) การทำ ตกแต่งหรือซ่อมแซมเครื่องเรือน รวมทั้งการขายส่วนประกอบ

(9) การทำกิจการโรงแรมหรือภัตตาคาร หรือการปรุงอาหารหรือเครื่องดื่มจำหน่าย

(10) การดัด ตัด แต่งผม หรือตกแต่งร่างกาย

(11) การทำสบู่ แชมพู หรือเครื่องสำอาง

(12) การทำวรรณกรรม

(13) การค้าเครื่องเงิน ทอง นาก เพชร พลอย หรืออัญมณีอื่น ๆ รวมทั้งการขายส่วนประกอบ

(14) การทำกิจการสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลเฉพาะ ที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน รวมทั้งการรักษาพยาบาลและการจำหน่ายยา

(15) การโม่หรือย่อยหิน

(16) การทำป่าไม้ สวนยาง หรือไม้ยืนต้น

(17) การขนส่งหรือรับจ้างด้วยยานพาหนะ

(18) การทำบล็อก และตรา การรับพิมพ์หรือเย็บสมุด เอกสารรวมทั้งการขายส่วนประกอบ

(19) การทำเหมืองแร่

(20) การทำเครื่องดื่มตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต

(21) การทำเครื่องกระเบื้อง เครื่องเคลือบ เครื่องซีเมนต์ หรือดินเผา

(22) การทำหรือจำหน่ายกระแสไฟฟ้า

(23) การทำน้ำแข็ง

(24) การทำกาว แป้งเปียกหรือสิ่งที่มีลักษณะทำนองเดียวกันและการทำแป้งชนิดต่าง ๆ ที่มิใช่เครื่องสำอาง

(25) การทำลูกโป่ง เครื่องแก้ว เครื่องพลาสติก หรือเครื่องยางสำเร็จรูป

(26) การซักรีด หรือย้อมสี

(27) การขายของนอกจากที่ระบุไว้ในข้ออื่น ซึ่งผู้ขายมิได้เป็นผู้ผลิต

(28) รางวัลที่เจ้าของม้าได้จากการส่งม้าเข้าแข่ง

(29) การรับสินไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากหรือการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน

โดยเด็ดขาดจากการขายฝาก

(30) การรมยาง การทำยางแผ่นหรือยางอย่างอื่นที่มิใช่ยางสำเร็จรูป

(31) การฟอกหนัง

(32) การทำน้ำตาลหรือน้ำเหลืองของน้ำตาล

(33) การจับสัตว์น้ำ

(34) การทำกิจการโรงเลื่อย

(35) การกลั่นหรือหีบน้ำมัน

(36) การให้เช่าซื้อสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 40 (5) แห่งประมวลรัษฎากร

(37) การทำกิจการโรงสีข้าว

(38) การทำเกษตรกรรมประเภทไม้ล้มลุกและธัญชาติ

(39) การอบหรือบ่มใบยาสูบ

(40) การเลี้ยงสัตว์ทุกชนิด รวมทั้งการขายวัตถุพลอยได้

(41) การฆ่าสัตว์จำหน่าย รวมทั้งการขายวัตถุพลอยได้

(42) การทำนาเกลือ

(43) การขายเรือกำปั่นหรือเรือมีระวางตั้งแต่ 6 ตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนต์มีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป หรือแพ

หมายเหตุ : เงินได้ประเภทที่มิได้ระบุใน (1) ถึง (43) ให้หักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควร

 

 

คำที่เกี่ยวข้อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีครึ่งปี

 

บริการ
ข่าว
Copyright © 2024 A.R. Accounting Consultant Co., Ltd. All Right reserved. Privacy Notice  Privacy Policy  Cookies Policy