Logo-สำนักงานบัญชี-ARAC
Preorder สบายใจ ช็อปปิง (Shopping) อย่างไรให้จ่ายภาษีได้แม่นยำ
Date : 09/08/2023
ทุกคนสงสัยกันหรือไม่ว่า เวลาสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศบางครั้งเราไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และกลับกันบางครั้งเราต้องเสียภาษีนำเข้า 
 


โดยสินค้าเหล่านั้นต้องคิดคำนวณภาษีเพื่อให้กลายเป็นรายได้เข้าสู่ประเทศ ซึ่งหากเรารู้กฎหมายเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจะทำให้เราสามารถช็อปปิง (Shopping) ได้อย่างสบายใจและเตรียมความพร้อมสำหรับการจ่ายภาษีอยู่เสมอ
ในปัจจุบันการเข้าถึงเว็บไซต์ซื้อของออนไลน์จากต่างประเทศนั้นง่ายมาก อีกทั้งยังมีหลากหลายเว็บไซต์ให้เลือกสรร ทำให้การพรีออเดอร์ (Preorder) สินค้าจากต่างประเทศสะดวกและรวดเร็ว การที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมีโอกาสที่เราจะโดนเรียกเก็บภาษี โดยภาษีที่เราต้องจ่ายคืออากรนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม 
“ภาษีอากรนำเข้า (Import duty)” คือ ภาษีที่รัฐเรียกเก็บจากการนำสินค้าเข้าประเทศ ไม่ว่าจะทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศ 
“ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax)” หรือ VAT คือการเก็บภาษีจากมูลค่าการซื้อขาย-ผลิตสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยอยู่ในอัตราคงที่ 7% ซึ่งเรื่องที่มักถูกเข้าใจผิดคือ ความจริงแล้วประเทศไทยมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 10% แต่ประเทศไทยมีการออกกฎหมายพิเศษเพื่อลดภาษีมูลค่าเพิ่มให้อยู่ที่ 7% 
แน่นอนว่าสินค้าแต่ละประเภทมีการเก็บภาษีที่แตกต่างกัน ซึ่งสินค้าที่ต้องเสียภาษีนำเข้ามีดังนี้

 

อัตราภาษีนำเข้าสินค้าแต่ละประเภท

 

- เครื่องแต่งกาย มีอัตราภาษีนำเข้าอยู่ที่ 30%
- กระเป๋าแบรนด์เนม มีอัตราภาษีนำเข้าอยู่ที่ 20%
- อัลบั้ม ตุ๊กตา มีอัตราภาษีนำเข้าอยู่ที่ 10%
- แว่นกันแดด แว่นตา นาฬิกา มีอัตราภาษีนำเข้าอยู่ที่ 5%
 

การช็อปปิงออนไลน์  (Online Shopping) เราต้องศึกษาว่าสินค้าที่เราซื้อนั้นมีอัตราภาษีนำเข้าอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งเราต้องจ่ายอากรนำเข้าก็ต่อเมื่อการนำเข้าสินค้ามีอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด นั่นคือหากของที่นำเข้านั้นมีราคาศุลกากร (CIF) เกิน 1,500 บาท สินค้าของเราจะต้องชำระภาษีอากร

 

สาระน่ารู้เกี่ยวกับภาษีอากรนำเข้า

 

โดยสามารถคำนวณภาษีที่ต้องชำระได้ตามขั้นตอนนี้  
1.    ราคาสินค้า x อัตราภาษีนำเข้า = อากรนำเข้า
2.    (ราคาสินค้า+อากรขาเข้า) x อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม = ภาษีมูลค่าเพิ่ม
3.    อากรนำเข้า + ภาษีมูลค่าเพิ่ม = ภาษีทั้งหมดที่ต้องชำระ
ตัวอย่างวิธีการคำนวณ 
สถานการณ์: พรีออเดอร์ (Preorder) เสื้อผ้าในราคา 2,000 บาทจากเว็บไซต์หนึ่ง
1.    2,000 (ราคาสินค้า) x 30% (อัตราภาษีนำเข้า) = 600 (อากรนำเข้า)
2.    (2000+600) (ราคาสินค้า+อากรขาเข้า) x 7% (อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม) =  182 (ภาษีมูลค่าเพิ่ม)  
3.    600 (อากรนำเข้า) + 182 (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) = 782 (ภาษีทั้งหมดที่ต้องชำระ)
สรุป: ต้องชำระภาษีทั้งหมด 782 บาท
 
 
การสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนชอบ เพราะสินค้าบางอย่างไม่สามารถหาซื้อได้ในประเทศไทยหรือบางอย่างสามารถซื้อได้จากเว็บไซต์ต่างประเทศในราคาที่ถูกกว่า แน่นอนว่าการนำเข้าสินค้าไม่ว่าจะเป็นของชิ้นเล็กหรือชิ้นใหญ่แต่หากสินค้าชิ้นนั้น ๆ มีราคาศุลกากร (CIF) เกิน 1,500 บาทตามที่กฎหมายกำหนดก็จำเป็นต้องชำระอากรขาเข้า เราสามารถเลือกชำระค่าภาษีอากรได้หลายช่องทาง 
1.    ชำระด้วยตนเอง ที่หน่วยรับชำระเงินทุกที่ของกรมศุลกากร 
2.    ชำระเงินในระบบ e-Payment เพื่อจ่ายผ่านบัญชีธนาคาร 
3.    ชำระเงินในระบบ e-Bill Payment  ชำระผ่าน QR Code หรือเลขอ้างอิงตามที่ปรากฏในเอกสารนั้น ณ เคาน์เตอร์ของธนาคาร หรือช่องทางการรับชำระเงินอื่น ๆ ของธนาคาร
4.    ชำระผ่านแอปพลิเคชัน Wallet@POST แอปพลิเคชันของไปรษณีย์ไทยที่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้
เป็นเรื่องที่ดีที่ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้การจ่ายภาษีอากรนำเข้าได้ง่ายขึ้น เพิ่มความสะดวกสบายให้กับนักช็อปปิงออนไลน์ทุกคน เพราะการเสียภาษีนั้นไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแม้ว่าหลาย ๆ คนจะยังกังวลเกี่ยวกับภาษีอากรที่ต้องจ่ายจากการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ เราสามารถศึกษาอัตราภาษีการนำเข้าสินค้าก่อนสั่งซื้อสินค้าเพื่อเป็นการเพิ่มความสบายใจในการช็อปปิง (Shopping) ได้นะคะ 

 
 
ที่มา
https://www.itax.in.th/pedia/ภาษีมูลค่าเพิ่ม
https://www.customs.go.th/มูลค่าสินค้าที่จะได้รับยกเว้นอากร  
https://www.bangkokbiznews.com/business/1004461 
 
ภาพ/เขียน : วรรณิดา ภิรมย์ปั่น
 
บริการ
ข่าว
Copyright © 2024 A.R. Accounting Consultant Co., Ltd. All Right reserved. Privacy Notice  Privacy Policy  Cookies Policy