รู้หรือไม่? เงินปันผลสามารถจ่ายได้ทั้งแบบ เงินปันผลประจำปี และเงินปันผลระหว่างกาล
เงินปันผลระหว่างกาล คือ เงินปันผลที่กรรมการบริษัทมีมติจ่ายในระหว่างรอบปีบัญชี เมื่อพิจารณาแล้วว่าบริษัทมีกำไรพอ สมควรที่จะจ่ายได้ ซึ่งจะเห็นว่าการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลของบริษัทสามารถกระทำได้โดยมติของกรรมการบริษัท และมีมติให้จ่ายเมื่อไหร่ก็ได้ โดยเมื่อจ่ายแล้วต้องนำไปแจ้งในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีในครั้งถัดไปด้วย
ส่วนเงินปันผลประจำปีนั้น จะสามารถจ่ายได้ต้องผ่านมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี
ซึ่งตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด มาตรา 115 ได้กำหนดระยะเวลาการจ่ายปันผลดังนี้
(1) การจ่ายปันผลประจำปี: มีกำหนดจ่ายภายใน 1 เดือนนับจากวันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติ
(2) การจ่ายปันผลระหว่างกาล: มีกำหนดจ่ายภายใน 1 เดือนนับจากวันที่คณะกรรมการบริษัท มีมติให้จ่ายปันผล ซึ่งต้องรายงานต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในครั้งต่อไป
โดยในการจ่ายปันผลระหว่างกาลนั้น ก็จะต้องเป็นการจ่ายจากกำไรหรือกำไรสะสม และถ้าบริษัทมีขาดทุนสะสมก็จะไม่สามารถจ่ายปันผลได้ตามกฏหมาย และมีการจัดสรรทุนสำรองตามกฏหมาย มีการกำหนดวัน record date และวัน XD เหมือนการจ่ายเงินปันผลประจำปี
สำหรับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งกรณีห้างหุ้นส่วนจำกัด และห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล นั้น ไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการตั้งสำรองตามกฎหมายดังเช่นกรณีบริษัทจำกัดแต่อย่างใด
ในทางภาษีอากร เงินปันผล ทั้งกรณีเงินปันผลประจำปี และเงินปันผลระหว่างกาล นั้น ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร