สำหรับวิธีการตรวจสอบใบกำกับภาษีปลอม เป็นเรื่องของนักบัญชี รวมถึงกิจการควรศึกษาทำความเข้าใจ และให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะการทำงานของท่านมีความเกี่ยวข้องกับใบกำกับภาษีเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นประโยชน์และลดความเสี่ยงต่อการกระทำความผิดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย เราจึงต้องมีวิธีการเพื่อป้องกันใบกำกับภาษีปลอม
ป้องกันใบกำกับภาษีปลอมได้อย่างไร
1. สำรวจธุรกิจของตนเอง ว่าเป็นธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการที่จะได้รับใบกำกับภาษีปลอมหรือไม่
เช่น
1.1 ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โดยเฉพาะกรณีจ้างเหมาช่วงที่กำหนดว่าจ้างเฉพาะค่าแรงรับเหมา แต่
ผู้ว่าจ้างยอมให้ผู้รับจ้างจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการรับจ้างให้ด้วย
1.2 ธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง
1.3 ธุรกิจซื้อมาขายไปประเภทผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์
1.4 ธุรกิจส่งออก
1.5 ธุรกิจผ้าและการ์เมนท์
ฯลฯ
2. ติดต่อซื้อขายสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนเต็มรูปแบบรายอื่นๆ ที่คุ้นเคยและติดต่อค้าขายหรือให้บริการกันอยู่เป็นประจำ ไม่ควรติดต่อซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ค้าขาจรที่ลักษณะเร่งร้อน หรือลุกลี้ลุกลน
3.ในกรณีไม่มั่นใจ ให้เรียกตรวจสอบหลักฐานทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ต้นฉบับที่ กรมสรรพากรได้
4.ไม่ควรซื้อสินค้าที่มีราคาถูกกว่าท้องตลาด โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและตกลงซื้อขายเป็นเงินสด โดยไม่มีการผ่อนระยะเวลาการชำระหนี้ (Credit Term) ไม่ว่ากรณีใดๆ
5.ควรตรวจสอบรายการสินค้า ตามหลักฐานใบกำกับภาษีกับที่ตกลงซื้อขายว่ามีรายการตรงกัน
6.ไม่ควรซื้อสินค้าหรือรับบริการ จากผู้ประกอบการที่ไม่ยอมรับชำระหนี้ด้วยเช็คขีดคร่อม ชนิดระบุชื่อผู้รับตามเช็ค (A/C Payee Only) และขีดฆ่าผู้ถือออก เพราะหลักฐานชนิดนี้สามารถพิสูจน์ผู้รับเงินตามเช็คได้
7.กำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจรับใบกำกับภาษีซื้ออย่างเป็นระบบ และมีความรัดกุมเพียงพอ
ปัจจุบันกรมสรรพากร ได้มีระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับใบกำกับภาษีปลอมที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการต่อต้านการทุจริต ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ใช้ใบกำกับภาษี ที่อาจตกเป็นเหยื่อของใบกำกับภาษีที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือที่เราเรียกว่า ใบกำกับภาษีปลอม
ปกติเรามักเข้าใจว่าการตรวจสอบคู่ค้าว่ามีการจดทะเบียนที่กระทรวงพาณิชย์ และเป็นกิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากรอย่างถูกต้องน่าจะเพียงพอแล้ว แต่ในมุมของเจ้าหน้าที่สรรพากรนั้นกิจการจะต้องสามารถพิสูจน์ให้ได้ว่าผู้ออกใบกำกับภาษีและผู้ขายเป็นรายเดียวกัน มีการชำระค่าสินค้ากันจริง
ทั้งนี้ กิจการจะต้องใช้ความระมัดระวังไม่ใช่แต่เฉพาะด้านคู่ค้าเท่านั้น การตรวจสอบภายในหรือการควบคุมภายในก็มีความจำเป็นเช่นกัน ถึงแม้ว่ากิจการจะสุจริต แต่เราไม่สามารถที่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับกรมสรรพากรได้เลย เพราะประมวลรัษฎากรเป็นกฎหมายเฉพาะ ได้วางหลักไว้ในมาตรา 89 (7) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ไว้ว่าในกรณีใบกำกับภาษีที่ผู้ได้รับประโยชน์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษี ให้ถือว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม