ผู้ที่กำลังลงทุน หรือสนใจลงทุนอยู่อย่าลืมดูสิทธิหักลดหย่อนใหม่ให้ดี ๆ จะได้คุ้มค่ากับเงินที่ได้ออมหรือลงทุนไป
การออมเงิน การลงทุน นอกจากจะเป็นผลดีต่อผู้มีเงินได้แล้ว ยังสามารถช่วยลดหย่อนภาษีได้อีก ซึ่งการออมเงินและการลงทุน อาจจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในแต่ละปี เช่น มีกองทุนใหม่ ๆ เกิดขึ้นเพื่อเป็นอีกทางเลือกให้กับบุคคลธรรมดาใช้ลดหย่อนภาษี เป็นต้น ในปี 2566 ก็มีอีกหนึ่งสิทธิหักลดหย่อนน้องใหม่สำหรับค่าซื้อหน่วยลงทุน ที่ชื่อว่า ‘กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG)’
สำหรับผู้ที่กำลังลงทุน หรือสนใจลงทุนอยู่อย่าลืมดูสิทธิหักลดหย่อนใหม่ให้ดี ๆ จะได้คุ้มค่ากับเงินที่ได้ออมหรือลงทุนไป
เงินออม และเงินลงทุนที่สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ มีอะไรบ้าง?
1. เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) : ตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 15% ของเงินเดือน และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับการลดหย่อนภาษีเพื่อการเกษียณในรูปแบบอื่น
2. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) : หักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับการลดหย่อนภาษีเพื่อการเกษียณในรูปแบบอื่น
3. กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน : หักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับการลดหย่อนภาษีเพื่อการเกษียณในรูปแบบอื่น
4. เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) : หักลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
5. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) : หักลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
6. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) : ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามจ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
7. เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) : หักลดหย่อนเงินลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการจัดตั้งหรือเพื่อการเพิ่มทุนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
8. ใหม่! กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) : ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ไม่ต้องลงทุนทุกปี
เงื่อนไข :
- เฉพาะสินทรัพย์ประเภทหุ้นและตราสารหนี้ไทยที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน
- ถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ปี นับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน ยกเว้นทุพพลภาพหรือตาย
- ต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น
- อย่าลืมแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิหักลดหย่อนต่อ บลจ. ที่ท่านได้ซื้อหน่วยลงทุน
*** หากถือครบตามเงื่อนไข ผลประโยชน์จากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุน ได้รับการยกเว้นภาษี
อย่าลืม!! เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน, เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และประกันชีวิตแบบบำนาญ รวมกันต้องไม่เกิน 500,000 บาท
รายการลดหย่อนภาษีอื่น ๆ คลิก!!