Logo-สำนักงานบัญชี-ARAC
รู้หรือไม่? ขยายเวลาลดหย่อน สำหรับเงินบริจาคอีก 5 ปี
Date : 01/02/2024

ขยายเวลาเงินบริจาคได้ลดหย่อนต่ออีก 5 ปี

การบริจาคเงินไม่เพียงแต่ดีต่อบุคคล ชุมชน และสังคมโดยรวมเท่านั้น แต่ยังดีต่อผู้บริจาคอีกด้วยที่จะนำยอดเงินการบริจาคไปลดหย่อนภาษีได้ทำให้มีภาระภาษีน้อยลง

การบริจาคเงินทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือแก่บุคคลหรือชุมชนที่เผชิญกับความยากลำบาก เช่น ผู้ที่มีความยากจน ด้านการศึกษาหรือมีปัญหาด้านสุขภาพ เป็นต้น เราสามารถช่วยสนองความต้องการขั้นพื้นฐานแก่ผู้คนที่ลำบากเหล่านั้นได้ เช่น อาหาร ที่พักอาศัย และการดูแลสุขภาพ ดังนั้นในประเทศไทยจึงมีมาตรการภาษีที่เรียกว่า “ค่าลดหย่อนการบริจาค” ที่จะช่วยให้เราสามารถสนับสนุนมูลนิธิหรือองค์กรไม่แสวงผลกำไรจำนวนมากเพื่อเป็นทุนในการทำกิจกรรมและสนับสนุนสาเหตุต่างๆ

หนึ่งในการบริจาคที่เป็นปัจจัยสำคัญของชีวิต คือการศึกษา ที่สำคัญและยั่งยืนต่อบุคคล ชุมชนและสังคมโดยรวม เนื่องจากบุคคลจำนวนมากโดยเฉพาะในชุมชนด้อยโอกาส อาจขาดการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเนื่องจากข้อจำกัดทางการเงิน การบริจาคให้กับหน่วยงานด้านการศึกษาสามารถช่วยมอบทุนการศึกษา อุปกรณ์การเรียน และทรัพยากรอื่น ๆ ได้ ทำให้นักเรียนในวงกว้างสามารถเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น

เมื่อไม่นานมานี้ ครม. ขยายระยะเวลามาตรการภาษี เพื่อสนับสนุสการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ออกไปอีก 5 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 – 31 ธันวาคม 2571 โดยต้องทำการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร (e-Donation) เท่านั้น มีสิทธิประโยชน์ดังต่อไปนี้

สำหรับบุคคลธรรมดา

ให้หักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค และเมื่อรวมกับเงินได้ที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2 เท่า ของเงินที่ได้จ่ายแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร

สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

ให้หักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค  ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค และเมื่อรวมกับรายจ่ายที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่าย เพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร

 

สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาอื่น ๆ เพิ่มเติม

 

สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

 

นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งจะยกเว้น ภาษีสำหรับการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่ กสศ. โดยจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายหรือรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล แล้วแต่กรณี

ภาษีที่ได้รับการยกเว้น

สำหรับบุคคลธรรมดา : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์

สำหรับบริษัท/ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล : ภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์

บริการ
ข่าว
Copyright © 2024 A.R. Accounting Consultant Co., Ltd. All Right reserved. Privacy Notice  Privacy Policy  Cookies Policy