ภาษีซื้อที่ขอคืนได้ แต่ไม่ขอคืน กับภาษีซื้อที่ขอคืนไม่ได้ แตกต่างกันอย่างไร
Date : 29/03/2024
เคล็ดลับการบริหารภาษี นั่นก็คือการนำภาษีซื้อมาช่วยประหยัดภาษี จึงทำให้ธุรกิจนำภาษีซื้อมาหักเยอะ ๆ

ภาษีซื้อ เป็นหนึ่งในภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้เรียกเก็บจากผู้ที่ซื้อสินค้า หรือรับบริการ ซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสีย โดยภาษีซื้อบางรายการมีสิทธิขอคืน หรือหักออกจากภาษีขายได้ตามที่กฎหมายกำหนด
ภาษีซื้อที่ขอคืนได้ แต่ไม่ขอคืน คือภาษีที่ขอคืนได้ แต่ไม่ได้ใช้สิทธิ์ขอคืนภายใน 6 เดือน จึงไม่สามารถนำมาลงเป็นค่าใช้จ่ายได้ จะกลายเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลทันที
ภาษีซื้อที่ขอคืนไม่ได้ หรือเรียกว่าภาษีซื้อต้องห้าม ไม่สามารถขอคืนภาษี หรือนำไปหักกับภาษีขายได้ แต่นำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ แต่ต้องเป็นภาษีซื้อต้องห้ามเช่น
- ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อ
- ภาษีซื้อที่เกิดจากการจ่ายเพื่อการรับรอง เช่นค่าที่พัก ค่าอาหาร หรือค่าสิ่งของ
- ภาษีซื้อจากการซื้อกระเช้าเป็นของขวัญปีใหม่
- ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีตาม ม.86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีรายการในใบกำกับ ภาษีไม่ได้พิมพ์หรือจัดทำขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ และมีข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนดในใบกำกับภาษีที่ไม่ได้จัดทำขึ้นด้วยวิธีการตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
- ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน
- ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อทรัพย์สินเพื่อใช้ หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ภาษีซื้อส่วนที่เฉลี่ยเป็นของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนำมาใช้หรือจะใช้ในการประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีเต็มรูป ซึ่งรายการได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นภาษีซื้อต้องห้าม
- ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีเต็มรูป ซึ่งมีรายการ ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรตามมาตรา 86/4 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ได้พิมพ์ขึ้นหรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์