Logo-สำนักงานบัญชี-ARAC
ให้เงินโดยเสน่หา รับเงินรับของจากคนอื่น ใครต้องเสียภาษี?
Date : 10/05/2024

การให้ของหรือเงิน ไม่ได้ให้ไปแล้วจบ ไม่ว่าจะเป็นการให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย บุตรบุญธรรม หรือการให้โดยเสน่หา เช่น เปย์กิ๊ก หรือแฟนคลับเปย์ศิลปิน  ก็ยังมีเรื่องของภาษีที่หลายคนอาจมองข้ามไป เราเรียกภาษีนี้ว่า ภาษีการรับให้ (Gift Tax)

ภาษีการรับให้ (Gift Tax)

คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บจากทรัพย์สินที่ให้หรือรับแก่บุตร คู่สมรส ญาติ หรือบุคคลอื่น ก่อนผู้ให้เสียชีวิต ทั้งนี้ ภาษีการรับให้มีขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีการรับมรดก (ผู้ให้เสียชีวิตแล้ว) ป้องกันไม่ให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษีการรับมรดก ซึ่งภาษีการรับให้ไม่ได้เป็นภาษีที่ใหม่อะไร เพราะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 แต่เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่มล้ำและให้สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษี

ภาษีการรับให้ (Gift Tax) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

ภาษีการรับให้ประเภทที่ 1 : อสังหาริมทรัพย์

อสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์สินที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เช่น ที่ดิน อาคาร บ้าน และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ โดย “ผู้ให้ (ผู้โอน)” อสังหาริมทรัพย์ เป็นผู้เสียภาษีรับให้ โดยแบ่งเป็น 2 กรณี

1.1 บิดาหรือมารดาให้/โอนกรรมสิทธิ์ อสังหาริมทรัพย์แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น

          - บุตรของบิดามารดาที่ได้จดทะเบียนสมรสกัน

          - บุตรของบิดามารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่ต่อมามีการจดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง

          - บุตรที่บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร

          - บิดาหรือมารดาหรือเด็กฟ้องคดีต่อศาลให้ศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาว่าเป็นบิดาหรือเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย

โดยราคาประเมินของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อบุตรหนึ่งคน ต่อปีภาษีไม่ต้องเสียภาษีรับให้ หากราคาประเมินของอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าเกิน 20 ล้านบาท ผู้ให้จะต้องเสียภาษีในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท ในอัตรา 5% เช่นพ่อโอนที่ดินให้ลูกสาว 10 ไร่ ราคาประเมินที่ดินอยู่ที่ไร่ละ 9 แสนบาท เท่ากับที่ดินที่ลูกสาวได้รับมีมูลค่าทั้งหมด 9 ล้านบาท พ่อจึงไม่มีภาระภาษีการรับให้ เป็นต้น

1.2 บุคคลอื่น

กรณีให้/โอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ให้บุคคลอื่น นอกจากบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายจะไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราปกติ 5%-35%

ภาษีการรับให้ประเภทที่ 2 : สังหาริมทรัพย์

สังหาริมทรัพย์ คือทรัพย์สินที่สามารถเคลื่อนที่ได้ เช่น หุ้น พันธบัตร หน่วยลงทุนกองทุนรวม เงินสดหรือเงินฝาก โดยผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีรับให้แบ่งเป็น 3 กรณี

2.1 บุพการี (บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด) ให้สังหาริมทรัพย์แก่ผู้สืบสันดาน (ลูก หลาน เหลน) หรือคู่สมรส

กรณีบุคคลธรรมดา (ผู้รับ) ได้รับสังหาริมทรัพย์ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี ไม่ต้องเสียภาษีการรับให้ แต่ถ้าได้รับเกิน 20 ล้านบาทต่อปี เสียภาษีการรับให่ในอัตรา 5%

ตัวอย่าง 1 : แม่โอนหุ้นให้ลูกชายจำนวน 500,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 5 บาท เท่ากับว่าลูกชายได้รับหุ้นมูลค่า รวม 2,500,000 บาท ลูกชายไม่ต้องเสียภาษีการรับให้

ตัวอย่างที่ 2 : A ได้รับเงินจากแม่ 12 ล้านบาท ได้เงินจากตาเพิ่มอีก 18 ล้านบาทใน 1 ปี รวมแล้ว A ได้รับเงินจากบุพการี 2 คนรวม 30 ล้านบาท เท่ากับว่า A ต้องเสียภาษีรับให้ในอัตรา 5% ในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท ดังนั้น A ต้องเสียภาษีการรับให้ 500,000 บาท

2.2.บุคคลธรรมดาได้รับเงินและอื่น ๆ จากการอุปการะ โดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีจากบุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน คู่สมรส และนิติบุคคล

ถ้าได้รับมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทผู้รับต้องเสียภาษีเงินได้ 5% ของเงินได้ หรือนำไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินอื่นก็ได้

2.3 บุคคลธรรมดาได้รับเงินจากการให้โดยเสน่หาที่ผั้ให้แสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา/กิจการศึกษา/กิจการสาธารณประโยชน์ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยผู้ให้เป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล

มูลค่าเงินที่ได้รับการยกเว้นในกรณีนี้ ไม่จำกัดจำนวน จึงไม่ต้องเสียภาษีการรับให้

 

สรุปให้อสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์ มีเรื่องภาษีรับให้เข้ามาเกี่ยวด้วยซึ่งอัตราภาษีแตกต่างกันไป อย่างเป็นแฟนคลับ/แม่ยกลิเก อย่าลืมว่าให้เงินแล้วศิลปินหรือนักแสดงจะต้องเสียภาษีรับให้อีก 5% ของเงินได้ด้วยในกรณีที่มูลค่าเกิน 10 ล้านบาท

ตัวอย่างเช่น : ในปี 2567 ศิลปิน ก ได้รับเงินจากแฟนคลับดังนี้

          - แฟนคลับ A ให้เงิน 2,000,000 บาท

          - แฟนคลับ B ให้เงิน 1,500,000 บาท

          - แฟนคลับ B ให้เงิน 900,000 บาท

          - กลุ่มแฟนคลับ C รวมเงินกันให้ศิลปิน 3,500,000 บาท

          - กลุ่มแฟนคลับ D รวมเงินกันให้ศิลปิน 1,200,000 บาท

          - กลุ่มแฟนคลับ E รวมเงินกันให้ศิลปิน 911,500 บาท

รวมมูลค่าเงินที่ศิลปิน ก ได้จากแฟนคลับ เท่ากับ 10,011,500 บาท ซึ่งเป็นมูลค่ารวมที่เกิน 10 ล้านบาทจะต้องนำไปเสียภาษีการรับให้ ในอัตรา 5% เท่ากับว่า ศิลปิน ก ต้องเสียภาษีการรับให้ 500,575 บาท

 

บริการ
ข่าว
Copyright © 2024 A.R. Accounting Consultant Co., Ltd. All Right reserved. Privacy Notice  Privacy Policy  Cookies Policy