Logo-สำนักงานบัญชี-ARAC
สรุป กฎหมายภาษีของกิจการที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียสาธารณะ ตอนลูกหนี้
Date : 15/05/2024
วันนี้เราจะมาสรุปกฎหมายภาษีของกิจการที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียสาธารณะ ในส่วนของลูกหนี้กันค่ะ

ก่อนอื่นต้องทราบกันก่อนว่า ประเทศไทยได้มีการแบ่งระดับของการใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินออกเป็น 2 ระดับคือ มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for PAEs) และ มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for NPAEs) วันนี้เราจะมาสรุปกฎหมายภาษีของกิจการที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียสาธารณะ ในส่วนของลูกหนี้กันค่ะ

1. การบันทึกบัญชีลูกหนี้

ลูกหนี้ คือสิทธิที่กิจการจะได้รับเงินสดหรือทรัพยากรหรือประโยชน์เชิงเศรษฐกิจอื่น ๆ เมื่อถึงกำหนดชำระ ลูกหนี้อาจรวมถึงลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น โดยลูกหนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่

 

1.1 ลูกหนี้การค้า คือลูกหนี้ที่เกิดจากการขายสินค้าหรือการให้บริการที่กิจการได้ส่งใบแจ้งหนี้หรือได้ตกลงอย่างเป็นทางการกับผู้ซื้อ รายการดังกล่าวนี้อาจอยู่ในรูปของตั๋วเงินรับ

ตัวอย่างการบันทึกบัญชีลูกหนี้การค้า บริษัทขายสินค้าหรือบริการเป็นเงินเชื่อเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท

          เดบิต ลูกหนี้การค้า                        100,000

          เครดิต รายได้ค่าสินค้า/บริการ           100,000

1.2 ลูกหนี้อื่น คือ ลูกหนี้ที่ไม่ใช่ลูกหนี้การค้า เช่น ลูกหนี้และเงินให้กู้ยืมแก่กรรมการและลูกจ้าง เงินให้กู้ยืมอื่น เป็นต้น

ตัวอย่างการบันทึกบัญชีลูกหนี้อื่น บริษัทให้กรรมการกู้ยืมเงินเป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท

          เดบิต เงินให้กู้ยืมแก่กรรมการ            50,000

          เครดิต เงินฝากธนาคาร                   50,000

การบันทึกบัญชีลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นจะไม่มีผลต่างระหว่างบัญชี กับภาษีอากร

 

2. การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญประมวลรัษฎากรไม่ได้กำหนดเรื่องการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ
ดังนั้น ค่าใช้จ่ายจากการประมาณการหนี้สงสัยจะสูญไม่สามารถนำมาถือเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (1)

เนื่องจากการประมาณการหนี้สงสัยจะสูญไม่สามารถนำมาถือเป็น
รายจ่ายทางภาษีได้ ตอนจัดทำกระดาษทำการในการคำนวณภาษี
เงินได้นิติบุคคล ต้องนำหนี้สงสัยจะสูญมาบวกกลับในกำไรทางบัญชีก่อนคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลดังนี้
         กำไรทางบัญชี                       200,000 บาท
         (บวก) หนี้สงสัยจะสูญ              100,000 บาท
         กำไรทางภาษี                        300,000 บาท

 

3. การตัดจำหน่ายหนี้สูญ
ประมวลรัษฎากรตามมาตรา 65 ทวิ (9) การตัดจำหน่ายหนี้สูญ
สามารถหักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้เมื่อมีการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจาก
บัญชีลูกหนี้

ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญดังนี้

ข้อ 1. หนี้สูญที่จะจำหน่ายจากบัญชีลูกหนี้ต้องเป็นหนี้ที่มีลักษณะ

ดังต่อไปนี้

(1) ต้องเป็นหนี้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการ หรือหนี้ที่ได้รวมเป็นเงินได้ในการคำนวณกำไรสุทธิทั้งนี้ ไม่รวมหนี้ที่ผู้เป็น หรือเคยเป็นกรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นลูกหนี้ ไม่ว่าหนี้นั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือในขณะที่ผู้นั้นเป็นกรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการ

(2) ต้องเป็นหนี้ที่ยังไม่ขาดอายุความและมีหลักฐานโดยชัดแจ้งที่สามารถฟ้องลูกหนี้ได้

ข้อ 2. การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้

ข้อ 2.1 ในกรณีหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนเกิน 2,000,000 บาทขึ้นไป และมีลักษณะตามข้อ 1. ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) ให้ติดตามทวงถามให้ช าระหนี้ตามสมควรแก่กรณี โดยมีหลักฐานการติดตามทวงถามอย่างชัดแจ้งและไม่ได้รับชำระหนี้โดยปรากฏว่า

(ก) ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย เป็นคนสาบสูญ หรือมี

หลักฐานว่าหายสาบสูญไป และไม่มีทรัพย์สินใดๆ จะชำระหนี้ได้ หรือ

(ข) ลูกหนี้เลิกกิจการ และมีหนี้ของเจ้าหนี้รายอื่นมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้อยู่ในลำดับก่อนเป็นจำนวนมากกว่าทรัพย์สินของลูกหนี้

(2) ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งหรือได้ยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีแพ่ง โดยมีหมายบังคับคดีของศาลแล้วและมีรายงานการบังคับคดีครั้งแรกของเจ้าพนักงานบังคับคดีอันสามารถแสดงได้ว่ามีการดำเนินการบังคับคดีแล้วแต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดจะชำระหนี้ได้

(3) ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีล้มละลายหรือได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีล้มละลาย หรือในคดีที่ผู้ชำระบัญชีร้องขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย โดยมีการประนอมหนี้กับลูกหนี้โดยศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้นั้น หรือลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายและได้มีการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งแรก หรือศาลได้มีคำสั่งปิดคดีแล้ว

 

การดำเนินการตาม (2) หรือ (3) ที่ได้กระทำในต่างประเทศหรือการดำเนินการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันที่ได้กระทำในต่างประเทศ ต้องมีเอกสารหลักฐานแห่งการดำเนินการที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ ออกให้ และหลักฐานดังกล่าว ต้องได้รับการรับรองคำแปลจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย ตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการรับรองเอกสาร

ข้อ 2.2 ในกรณีหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนไม่เกิน 2,000,000 บาทและมีลักษณะตาม ข้อ 1. ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) ได้ดำเนินการตามข้อ 2.1 (1) แล้ว

(2) ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งและศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องนั้นแล้วหรือได้ยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีแพ่งและศาลได้มีคำสั่งรับคำขอนั้นแล้ว

(3) ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีล้มละลายและศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องนั้นแล้วหรือในคดีที่ผู้ชำระบัญชีร้องขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายและศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องนั้นแล้วหรือได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีล้มละลาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลแล้วแต่กรณี ได้มีคำสั่งรับคำขอรับชำระหนี้นั้นแล้ว

ในกรณีตาม (2) หรือ (3) กรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องมีคำสั่งอนุมัติให้จำหน่ายหนี้นั้นเป็นหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ภายใน 30 วันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ให้นำข้อความในข้อ 2. วรรคสอง มาใช้บังคับแก่การดำเนินการตาม (2) หรือ (3) หรือการดำเนินการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันที่ได้กระทำในต่างประเทศ ด้วยโดยอนุโลม

ข้อ 2.3 ในกรณีหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท และมีลักษณะตาม ข้อ 1. การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ให้กระทำได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ใน ข้อ 2.1 หรือข้อ 2.2 ถ้าปรากฏว่าได้มีหลักฐานการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามสมควรแก่กรณีแล้วแต่ไม่ได้รับชำระหนี้และหากจะฟ้องลูกหนี้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่คุ้มกับหนี้ที่จะได้รับชำระ

ข้อ 3. หนี้ของลูกหนี้รายใดที่ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์

วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ครบถ้วนแล้วในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้จำหน่ายเป็นหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ และถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น เว้นแต่กรณีตามข้อ 2.2 (2) และ (3) ให้ถือเป็นรายจ่าย ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องคำขอเฉลี่ยหนี้หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลแล้วแต่กรณีได้มีคำสั่งรับคำขอรับชำระหนี้

4. หนี้สูญได้รับคืน
ประมวลรัษฎากรตามมาตรา 65 ทวิ(9) วรรคหนึ่ง หนี้สูญ
ได้รับคืน ถ้าได้รับชำระหนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีใดให้นำมาคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

ประมวลรัษฎากรตามมาตรา 65 ทวิ (9) วรรคสอง หนี้สูญรายใดได้
นำมาคำนวณเป็นรายได้แล้วหากได้รับชำระในภายหลังก็มิให้นำมา
คำนวณเป็นรายได้อีก

 

บริการ
ข่าว
Copyright © 2024 A.R. Accounting Consultant Co., Ltd. All Right reserved. Privacy Notice  Privacy Policy  Cookies Policy