สรรพากรกำหนดให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีบัญชีพิเศษ คนขายออนไลน์บนแพลตฟอร์มที่ไม่เสียภาษีต้องระวัง หากเลี่ยงภาษีเพราะข้อมูลการขายของคุณ ถูกส่งถึงมือกรมสรรพากรแล้ว
เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร สรรพากรจึงกำหนดให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีบัญชีพิเศษตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้จัดข้อมูลบัญชีพิเศษในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ตามที่กำหนด และนำส่งข้อมูลบัญชีพิเศษให้กรมสรรพากรตามช่องทางที่กำหนดบนเว็บไซต์
อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม คือตลาด ช่องทางใด ๆ ที่ผู้ให้บริการหลายรายใช้ในการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการ นั่นแปลว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จะต้องนำส่งข้อมูลรายได้ของคนขายของออนไลน์บนแพลตฟอร์ม เข้าสู่ระบบสรรพากร เพื่อง่ายต่อการจัดเก็บภาษีอย่างถูกต้อง ดังนั้นคนขายของออนไลน์โดยอาศัยแพลตฟอร์มโดยไม่เสียภาษี จะต้องทำการยื่นและเสียภาษีให้ถูกต้อง มีรายได้จากการขายของแต่ไม่เสียภาษีไม่ได้แล้วนะ
อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม หมายถึงใครบ้าง
"อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม" ไม่ได้หมายถึงบุคคล แต่หมายถึง ระบบหรือโครงสร้างที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวกลางในการให้บริการ โดยมีเจ้าของหรือผู้ดูแลซึ่งอาจเป็นบุคคล บริษัท หรือองค์กร แต่ไม่รวมกิจการที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ก.ล.ต. ตัวอย่างเช่น : Facebook, Shopee, Lazada, Line, Grab หรือ TikTok เป็นต้น
คุณสมบัติผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม ดังต่อไปนี้
1. จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย
2. มีรายได้จากกิจการ ในรอบระยะเวลาบัญชี > 1,000 ล้านบาท
ขั้นตอนและหน้าที่ของผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม
1. ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม หรือผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Service Provider) มีหน้าที่จัดทำและนำส่งข้อมูลบัญชีพิเศษที่กระทำขึ้นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรตามที่กฎหมายกำหนด
2. นำส่งผ่านระบบการนำเข้าและคัดแยกข้อมูลการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (National e-Payment) ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับธุรกรรมภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยการนำส่งข้อมูลผ่านระบบการนำเข้าและคัดแยกข้อมูลการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์
3. ผู้ให้บริการจะต้องนำส่งข้อมูลบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี