
จดทะเบียนการค้า จดทะเบียนพาณิชย์ มีกี่แบบ?
การจดทะเบียนการค้า หรือ จดทะเบียนพาณิชย์ มี 2 แบบ คือ
1.จดทะเบียนพาณิชย์
2.จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ทำไมต้องจดทะเบียนการค้า จดทะเบียนพาณิชย์?
- สามารถใช้เป็นเอกสารประกอบขอสินเชื่อ
- เพิ่มความน่าเชื่อถือ ทำให้ลูกค้ามั่นใจในการรับสินค้าหรือบริการ
- เป็นหลักฐานการค้า
- เป็นฐานข้อมูลสถิติของประเทศ
ใครต้องจดทะเบียนการค้า จดทะเบียนพาณิชย์?
ผู้ที่ทำธุรกิจขายสินค้า ไม่ว่าจะทำในนามบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือบริษัท จะต้องจดทะเบียนการค้าหรือจดทะเบียนพาณิชย์แต่ถ้าเป็นธุรกิจประเภทบริการอย่างเดียวซึ่งไม่มีการขายสินค้าเกี่ยวข้อง ไม่ต้องจดทะเบียนร้านค้าหรือจดทะเบียนพาณิชย์ ตรวจสอบประเภทธุรกิจที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์เพิ่มเติมได้ที่นี่ โดยจะต้องจดทะเบียนการค้าหรือจดทะเบียนพาณิชย์ภายใน 30 วัน นับจากวันเริ่มประกอบกิจการ
เอกสารที่ต้องใช้ในการจุดทะเบียนการค้า จดทะเบียนพาณิชย์
- คำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.)
- สำเนาบัตรประจำตัว หรือ หนังสือรับรองบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน
- สำเนาทะเบียนบ้านของสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่
- กรณีไม่ได้เป็นเจ้าบ้าน ต้องมีเอกสาร ดังต่อไปนี้
(1) หนังสือให้ความยินยอมใช้สถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่
หรือ (2) สำเนาสัญญาเช่า
- สำเนาบัตรประจำตัวผู้ขอจดทะเบียนและหนังสือมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจให้จดทะเบียนให้)
ธุรกิจที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
1. ขายสินค้าออนไลน์ ทางเว็บไซต์ หรือ สื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook
2. บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider : ISP)
3. ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Web Hosting)
4. ให้บริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้า หรือบริการ (E-marketplace)
เอกสารเพิ่มเติมที่ใช้ในการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ขั้นตอนและค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นั้นเหมือนกับการจดทะเบียนพาณิชย์แบบปกติทุกประการ แต่จะต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
1. รายละเอียดเกี่ยวกับเว็บไซต์
2. เอกสารการจดโดเมนเนม ที่แสดงว่าผู้จดเป็นเจ้าของโดเมนเนม
3. พิมพ์หน้าแรกของร้านค้าออนไลน์สินค้า/บริการ และวิธีการสั่งซื้อ วิธีการชำระเงินวิธีการส่งสินค้า
จดทะเบียนการค้า จดทะเบียนพาณิชย์เสียภาษีอย่างไร?
กิจการที่จดทะเบียนการค้า หรือ จดทะเบียนพาณิชย์ จะต้องเสียภาษีเงินได้ตามประเภทบุคคลของผู้ขอจดทะเบียน คือ
- หากจดทะเบียนพาณิชย์ในนามบุคคลธรรมดา + ก็มีภาระหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- หากจดทะเบียนพาณิชย์ในนามนิติบุคคล - ก็มีภาระหน้าที่ต้องภาษีเงินได้นิติบุคคลและหากรายได้จากการขายเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
บทลงโทษ
1. ประกอบพาณิชย์กิจโดยไม่จดทะเบียน แสดงรายการเท็จ ไม่ยอมให้ถ้อยคำ ไม่ยอมให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบในสำนักงาน มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
2. กรณีไม่จดทะเบียนอันเป็นความผิดต่อเนื่องปรับอีกวันละไม่เกิน 100 บาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ
3. ถ้าใบทะเบียนพาณิชย์สูญหายไม่ยื่นคำร้องขอใบรับแทน หรือไม่แสดงใบทะเบียนพาณิชย์ไว้ที่สำนักงาน ที่เห็นได้ง่าย ไม่จัดทำป้ายชื่อ มีความผิดปรับไม่เกิน 200 บาท และถ้าเป็นความผิดต่อเนื่อง ปรับอีกวันละไม่เกิน 20 บาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
4. ผู้ประกอบพาณิชยกิจซึ่งกระทำการฉ้อโกงประชาชน ปนสินค้าโดยเจตนาทุจริต ปลอมสินค้า หรือกระทำการทุจริตอื่นใดอย่างร้ายแรงในการประกอบกิจการจะถูกถอนใบทะเบียนพาณิชย์ เมื่อถูกสั่งถอนใบทะเบียนพาณิชย์แล้ว จะประกอบกิจการต่อไปไม่ได้ เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะสั่งให้รับจดทะเบียนพาณิชย์ใหม่
5. ประกอบพาณิชยกิจที่ถูกสั่งถอนใบทะเบียนพาณิชย์แล้ว ยังฝ่าฝืนประกอบพาณิชยกิจต่อไป มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เห็น 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือทั้งปรับทั้งจำ