Logo-สำนักงานบัญชี-ARAC
เข้าใจกระบวนการตรวจสอบภาษี เพื่อธุรกิจที่โปร่งใสและยั่งยืน
Date : 22/08/2024
การเข้าใจขั้นตอนและวัตถุประสงค์ของการตรวจปฏิบัติการของกรมสรรพากรจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งช่วยให้ธุรกิจเตรียมตัวได้อย่างถูกต้อง

    การตรวจปฏิบัติการของสรรพากรเป็นกระบวนการที่ผู้ประกอบการทุกท่านต้องเผชิญ ไม่ว่าธุรกิจจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ การเข้าใจขั้นตอนและวัตถุประสงค์ของการตรวจสอบนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้ธุรกิจเตรียมตัวได้อย่างถูกต้องและผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

การตรวจปฏิบัติการของสรรพากรคืออะไร ทำไมต้องตรวจ?

    การตรวจปฏิบัติการ เป็นการตรวจสถานประกอบการของผู้ประกอบการทุกรายอย่างเป็นระบบตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 88/3 ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจเข้าไปในสถานประกอบการของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือไม่ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ผู้ประกอบการได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี และเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบการได้ชำระภาษีถูกต้องตามกฎหมายกำหนด

    ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจสั่งผู้ประกอบการหรือบุคคลที่อยู่ในสถานที่นั้นให้ปฏิบัติการเท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ อันควร และมีอำนาจยึดเอกสารหลักฐานเหล่านั้นมาตรวจสอบไต่สวนได้ ทั้งนี้  เจ้าพนักงานประเมินต้องแสดงบัตรประจำตัว พร้อมทั้งหนังสือหรือหลักฐานต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อเข้าไปทำการตรวจสอบ

 

ความถี่ในการตรวจปฏิบัติการของกรมสรรพากร
    ความถี่ของการตรวจปฏิบัติการสำหรับผู้ประกอบการแต่ละรายจะแตกต่างกันไป และเรื่องที่จะตรวจปฏิบัติการมีด้วยกันหลายเรื่อง เช่น

  • การตรวจปฏิบัติการสอบยันใบกำกับภาษี
  • การตรวจปฏิบัติการตรวจนับสินค้าคงเหลือ
  • การตรวจปฏิบัติการทั่วไป

 

    ในการตรวจปฏิบัติการแต่ละครั้งจะต้องมีการตรวจเอกสารหลักฐานต่าง ๆ กับรายการที่ปรากฏในแบบแสดงรายการ เพื่อยืนยันว่าการยื่นแบบแสดงรายการเป็นไปอย่างถูกต้องและครบถ้วน การตรวจปฏิบัติการทั่วไปจะเป็นการตรวจสอบแบบแสดงรายการของงวดภาษีงวดในงวดหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้ามีปัญหาเกี่ยวข้องกับเดือนภาษีอื่น ๆ ก็จะมีการตรวจโยงไปถึงเดือนภาษีนั้นด้วย ดังนั้นในการออกตรวจปฏิบัติการแต่ละครั้งนั้นจะมีการตรวจการจัดทำบัญชี การเก็บรักษาเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่

    ในขณะเดียวกันเจ้าพนักงานสรรพากรก็จะได้ให้คำปรึกษา และแนะนำแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการด้วย รวมทั้งจะได้มีการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ประกอบการ เพื่อใช้พิจารณากำหนดความถี่ของการตรวจปฏิบัติการครั้งต่อ ๆ ไปด้วย
 

ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจปฏิบัติการของกรมสรรพากร

    ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจปฏิบัติการจะขึ้นอยู่กับขนาดและประเภทของกิจการ ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาในการเข้าตรวจ ณ สถานประกอบการโดยเฉลี่ยประมาณ 2 วันต่อราย โดยจะมีการบันทึกคำให้การ (ต.6) ณ ขณะเข้าตรวจ และจะมีการเรียกเอกสาร เพื่อนำมาตรวจและวิเคราะห์ตามหลักของประมวลรัษฎากร ดังนั้นเมื่อมีการตรวจปฏิบัติผู้ประกอบการควรมีเอกสารให้ครบถ้วน เพื่อการทำงานที่รวดเร็ว
 

หากการตรวจปฏิบัติการพบสิ่งที่ผิดปกติ

    ในการตรวจปฏิบัติการ หากตรวจสอบพบการกระทำความผิดที่เป็นความผิดเพียงเล็กน้อยที่ผู้ประกอบการไม่ได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้ หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ทางเจ้าหน้าที่ก็จะให้คำแนะนำและแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจในเรื่องภาษี ถ้าเป็นความผิดใหญ่ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นสาระสำคัญที่ผู้ประกอบการมีเจตนาหลีกเลี่ยงก็จะทำการประเมินภาษีเพิ่มเติมหรือดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดต่อไป

 

 

 

เรียนรู้เทคนิคการรับมือกับการตรวจสอบภาษีแบบมืออาชีพ

 

 

คุณพร้อมหรือยังที่จะเผชิญหน้ากับการตรวจสอบภาษีอย่างมั่นใจ? เตรียมพบกับงานสัมมนาเพื่อเจาะลึกการตรวจสอบภาษี และเรียนรู้วิธีรับมือกับการตรวจสอบอย่างมืออาชีพ จากวิทยากรสุดพิเศษที่มีประสบการณ์ด้านภาษีอย่างยาวนาน แล้วพบกันในงานสัมมนาที่ ARAC จะจัดขึ้นเร็ว ๆ นี้

 

 

ติดต่อสอบถาม

Email : arac@ar.co.th

Facebook : ARAccounting

 

 

ข้อความที่เกี่ยวข้อง : #การตรวจสอบภาษี #สรรพากร #ภาษี #ธุรกิจ #บัญชี #ผู้ประกอบการ #SME #Startup #กฎหมาย #การเงิน

บริการ
ข่าว
Copyright © 2024 A.R. Accounting Consultant Co., Ltd. All Right reserved. Privacy Notice  Privacy Policy  Cookies Policy