ทุกปีมีธุรกิจที่ได้รับหมายเรียกตรวจสอบจากกรมสรรพากร การถูกตรวจสอบภาษีอาจเป็นประสบการณ์ที่น่ากลัวสำหรับหลายคน แต่รู้หรือไม่ว่า การตรวจสอบภาษีเป็นกระบวนการปกติที่กรมสรรพากรดำเนินการเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการเสียภาษี และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการเก็บภาษี
หมายเรียกตรวจสอบภาษีคืออะไร? ทำไมถึงถูกเรียกตรวจสอบ?
การออกหมายเรียกตามประมวลรัษฎากร
การออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร เพื่อตรวจสอบภาษีอากร เป็นการดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องภาษีอากรที่นำส่งหรือที่ต้องเสีย และการชำระอากรแสตมป์ รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากรด้วยเช่นกัน โดยการใช้เทคนิคการตรวจสอบบัญชีและเอกสารหลักฐานทางภาษีอากรหรือเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง
หมายเรียกตรวจสอบภาษี ต้องเป็นหนังสือที่กรมสรรพากรออกให้แก่บุคคลหรือหน่วยงานที่ต้องเสียภาษี เพื่อขอให้มาให้ข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเสียภาษี เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของการเสียภาษีตามกฎหมายกำหนด
เหตุผลที่ถูกเรียกตรวจสอบภาษี มีหลายประการ เช่น
- ข้อมูลที่ยื่นภาษีไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน : อาจเกิดจากความผิดพลาดในการคำนวณ หรือการลืมรายการบางอย่าง
- มีรายได้ที่ยังไม่ได้นำมาคำนวณภาษี : เช่น รายได้จากการลงทุน หรือรายได้อื่น ๆ ที่ไม่ได้แจ้งในแบบแสดงรายการภาษี
- มีค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ : หรือค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น
- มีการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ : เช่น เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ หรือมีการขยายกิจการ
- การสุ่มตรวจ : กรมสรรพากรอาจทำการสุ่มตรวจผู้เสียภาษี เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการเสียภาษี
วัตถุประสงค์ของการออกหมายเรียกตามประมวลรัษฎากร
- เพื่อเสริมสร้างให้การเสียหรือการนำส่งภาษีอากร และการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากรเป็นไปโดยถูกต้อง และครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กฎหมายกำหนด
- เพื่อป้องปรามการหลีกเลี่ยงภาษีอากร
- เพื่ออำนวยให้เกิดความเป็นธรรมในการเสียภาษีอากร
- เพื่อหาแนวทางในการอุดช่องโหว่ของกฎหมาย
- เพื่อพัฒนาระบบบริหารการจัดเก็บภาษีอากร
หมายเรียกตามประมวลรัษฎากร กรณีภาษีเงินได้ทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล มี 2 กรณีด้วยกัน
1. กรณีผู้ต้องเสียภาษีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีก่อนได้รับหมายเรียกตามประมวลรัษฎากร อำนาจในการออกหมายเรียกเป็นไปตามมาตรา 19 ดังนี้
มาตรา 19 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน และออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้น นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ แต่ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันนับแต่วันส่งหมาย ทั้งนี้ การออกหมายเรียกดังกล่าว จะต้องกระทำภายในเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการไม่ว่าการยื่นรายการนั้น จะได้กระทำภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไปหรือไม่ ทั้งนี้ แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง
เว้นแต่กรณีปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร หรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากร อธิบดีจะอนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกดังกล่าวเกินกว่า 2 ปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ แต่กรณีขยายเวลาเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากรให้ขยายได้ไม่เกินกำหนดเวลาตามที่มีสิทธิขอคืนภาษีอากร
เหตุผลที่เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียก โดยแบ่งเป็นกรณี ดังต่อไปนี้
ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์
กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์จะต้องดำเนินการออกหมายเรียกฯ ภายในเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการไม่ว่าการยื่นรายการนั้น จะได้กระทำภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไปหรือไม่ ทั้งนี้ แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง
มีหลักฐานหรือสงสัยว่าเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร
กรณีปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากรอธิบดีกรมสรรพากรจะอนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกดังกล่าวเกินกว่า 2 ปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ
กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากร
อธิบดีจะอนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกดังกล่าวเกินกว่า 2 ปีก็ได้ แต่ต้องไม่กำหนดเวลาตามที่มีสิทธิขอคืนภาษีอากร กล่าวคือ ภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการ
2. กรณีผู้ต้องเสียภาษีเงินได้มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีก่อนได้รับหมายเรียกตามประมวลรัษฎากร อำนาจในการออกหมายเรียกเป็นไปตามมาตรา 23 ดังนี้
“มาตรา 23 ผู้ใดไม่ยื่นรายการ ให้อำเภอหรือเจ้าพนักงานประเมินแล้วแต่กรณี มีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้นั้นมาไต่สวน และออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ ผู้ที่ไม่ยื่นรายการ หรือพยานนั้นนำบัญชี หรือพยานหลักฐานอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ แต่ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันนับแต่วันส่งหมาย”
อ้างอิงจาก : ภาษีสรรพากร : สุเทพ พงษ์พิทักษ์
ได้รับหมายเรียกตรวจสอบภาษี? อย่าเพิ่งตกใจ! มาทำความเข้าใจไปพร้อมกัน
ต้องการความมั่นใจในการจัดการภาษีมากขึ้นหรือไม่? อย่าพลาดงานสัมมนา "เข้าใจกระบวนการตรวจสอบภาษี : เคล็ดลับที่ผู้ประกอบการและนักบัญชีต้องรู้" เราจะมาไขข้อข้องใจทุกประเด็นเกี่ยวกับการตรวจสอบภาษี ช่วยให้คุณเตรียมตัวรับมือได้อย่างมั่นใจ ลดความเสี่ยงในการถูกปรับ และวางแผนภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปิดให้สำรองที่นั่งเร็ว ๆ นี้
ติดต่อสอบถาม
Email : arac@ar.co.th
Facebook : ARAccounting
ข้อความที่เกี่ยวข้อง : หมายเรียกตรวจสอบภาษี, ตรวจสอบภาษี, กรมสรรพากร, ภาษีอากร