ของขวัญปีใหม่ เป็นค่าใช้จ่ายได้ไหม? บทความนี้มีคำตอบ!

ใกล้จะสิ้นปีและใกล้จะปีใหม่แล้ว บริษัทหลาย ๆ บริษัทหรือแผนกแต่ละแผนกกำลังมองหาของขวัญให้กับลูกค้า พนักงานและพาร์ทเนอร์กันแน่ ๆ ซึ่งของขวัญปีใหม่นั้นไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ทั้งหมด มาดูกันว่าของขวัญปีใหม่ต้องนำมายื่นภาษีในรูปแบบใดได้บ้าง
ตามกฎหมายภาษีของไทย บริษัทที่ซื้อของขวัญให้ลูกค้าสามารถนำค่าใช้จ่ายไปหักเป็นรายจ่ายได้ แต่มีข้อจำกัดและเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตาม ดังนี้
แบ่งเป็น 2 กรณีด้วยกัน คือ
- แจกของขวัญให้กับลูกค้าหรือพาร์ทเนอร์
- แจกของขวัญให้พนักงาน ที่มีการการระบุไว้าว่าเป็นสวัสดิการที่ให้กับพนักงาน โดยให้กับพนักงานทุกคนไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง
แจกของขวัญให้กับลูกค้าหรือพาร์ทเนอร์ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ดังนี้
ภาษีเงินได้นิติบุคคล แม้ว่าของขวัญที่ให้แก่ลูกค้าจะถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามแต่ก็สามารถนำมาใช้เป็นรายจ่ายทางภาษีได้ ซึ่งต้องเป็นค่ารับรองตามหลักเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนด ดังนี้
- เป็นการให้ของขวัญ หรือให้ตามธรรมเนียมประเพณี หรือเทศกาล
- เป็นการจ่ายรับรองให้กับบุคคลภายนอก
- มีหลักฐานการจ่ายถูกต้อง
- ได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจ เพราะต้องจัดทำใบขออนุมัติเบิกค่ารับรอง ซึ่งต้องมีกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลอื่นที่ได้รับมอบหมายจากกิจการให้เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ
- ค่าใช้จ่ายจากการซื้อสิ่งของนำไปหักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ ซึ่งราคาต้องไม่เกิน 2,000 บาท ต่อชิ้น (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และต้องไม่เกิน 0.3% ของยอดรายได้ ยอดขาย หรือทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว และต้องไม่เกิน 10 ล้านบาท
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ไม่ว่าจะเป็นของขวัญหรือของชำร่วยที่กิจการมอบให้แก่ลูกค้า ถือเป็นการขายสินค้ากิจการไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือสิ่งที่ต้องระวัง ควรเลือกราคาหรือมูลค่าที่ไม่สูงจนเกินไป เพราะถ้าหากมีราคาที่สูงเกินไปต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมากตามไปด้วย
ภาษีซื้อ ของขวัญหรือของชำร่วยที่กิจการมอบให้ลูกค้าเพื่อสวัสดีปีใหม่ เป็นภาษีซื้อต้องห้ามเพราะทางกฎหมายถือเป็นค่ารับรอง จึงไม่สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายได้ แต่สามารถนำไปหักเป็นรายจ่ายค่ารับรองได้
ภาษีขาย ในกรณีที่นำของขวัญ ไปมอบให้ลูกค้าเพื่อสวัสดีปีใหม่ ตามขนบธรรมเนียมประเพณี ถือเป็นการขายในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องนำมูลค่าของขวัญไปเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมออกใบกำกับภาษี
แต่ถ้าหากว่าของขวัญหรือของชำร่วยเหล่านี้ เข้าเงื่อนไขเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้
- เป็นของขวัญหรือที่เป็นสินค้า อย่างเช่น ปฏิทิน สมุดบันทึกประจำวัน (Diary) หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน เป็นต้น โดยมีชื่อของผู้ประกอบการ ชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบการปรากฏอยู่
- มูลค่าของขวัญหรือของชำร่วยที่มอบให้ลูกค้า จะต้องมีราคาไม่สูงเกินสมควร
ใด ๆ อย่าลืมว่าค่าใช้จ่ายส่วนตัว คือค่าใช้จ่ายต้องห้ามไม่ควรนำมาเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการ การที่จะนำสิ่งของไปเป็นรายจ่ายค่ารับรองได้นั้นมูลค่าของสิ่งของนั้นต้องไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนที่เกินไม่สามารถนำมาเป็นค่ารับรองได้ เป็นรายจ่ายต้องห้ามทันที
แจกของขวัญให้พนักงาน
เป็นประจำทุกปีที่บริษัทมักจะซื้อของขวัญแจกพนักงาน เพื่อเป็นของตอบแทนหรือเป็รขวัญกำลังใจในการเริ่มปีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นของขวัญ หรือ เงินรางวัล เป็นต้น ซึ่งมีการกำหนดไว้ว่าเป็นสวัสดิการให้กับพนักงานถือว่าเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการให้แก่พนักงานทุกคน โดยไม่ได้เลือกปฏิบัติ
ดังนั้น ค่าใช้จ่ายตรงนี้กิจการสามารถใช้สิทธิทางภาษีได้ โดยต้องคำนึงถึงหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
ภาษีเงินได้นิติบุคคล นำมาเป็นรายจ่ายได้ไม่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีซื้อ ถ้ากิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีซื้อของขวัญเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการของกิจการ สามารถนำมาคำนวณหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ (เครดิตภาษีขาย) ไม่ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม
ภาษีขาย การให้ของขวัญปีใหม่กับพนักงาน จะถือเป็นการขายสินค้า จำหน่าย จ่าย หรือโอน กิจการต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำส่งภาษีขายภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป แต่ไม่ต้องทำใบกำกับภาษี ยกเว้นให้ของขวัญปีใหม่เป็นเงิน หรือบัตรกำนัล ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เมื่อพนักงานได้รับของขวัญปีใหม่ ปกติกิจการจะเป็นผู้ออกค่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับพนักงานอยู่แล้ว ถ้ากิจการมีสัญญาว่าจะออกค่าภาษีให้ แต่ถ้าหากกิจการไม่มีสัญญาว่าจะออกให้ จะถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม