การลดหย่อนภาษีในหมวดการออมและการลงทุน เป็นอีกหนึ่งสิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนมีวินัยทางการเงิน โดยการนำเงินที่ออมและลงทุนไปหักลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งจะช่วยให้คุณจ่ายภาษีน้อยลง

ลดหย่อนภาษีในหมวดการออมและการลงทุน คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่รัฐบาลมอบให้แก่ผู้ที่มีเงินได้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีวินัยทางการเงินและออมเงิน โดยการนำเงินที่ใช้จ่ายไปกับการออมและการลงทุนมาหักลดหย่อนภาษีได้ ทำให้ผู้เสียภาษีจ่ายภาษีน้อยลง
1. เงินสมทบกองทุนประกันสังคม: หักค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุด 9,000 บาท เงินสมทบประกันสังคมมาจากการหักเงิน (บังคับ) เข้ากองทุน 5% ของเงินเดือนทุกเดือน
2. เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD): ตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 15% ของเงินเดือน และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับการลดหย่อนภาษีเพื่อการเกษียณในรูปแบบอื่น
3. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.): หักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 30% ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับการลดหย่อนภาษีเพื่อการเกษียณในรูปแบบอื่น
4. กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน: หักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับการลดหย่อนภาษีเพื่อการเกษียณในรูปแบบอื่น
5. เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.): หักลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF): หักลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี เมื่อรวมกับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแต่ไม่เกิน 500,000 บาท จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
7. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF): ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนในข้อ 2-6 ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
8. เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม): หักลดหย่อนเงินลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการจัดตั้งหรือเพื่อการเพิ่มทุนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
9. กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG): ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ไม่ต้องลงทุนทุกปี
เงื่อนไข :
- เฉพาะสินทรัพย์ประเภทหุ้นและตราสารหนี้ไทยที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน
- ถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 8 ปี นับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน ยกเว้นทุพพลภาพหรือตาย
- ต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น
- อย่าลืมแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิหักลดหย่อนต่อ บลจ. ที่ท่านได้ซื้อหน่วยลงทุน
*** หากถือครบตามเงื่อนไข ผลประโยชน์จากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุน ได้รับการยกเว้นภาษี
อย่าลืม!! เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน, เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และประกันชีวิตแบบบำนาญ รวมกันต้องไม่เกิน 500,000 บาท