บทความนี้จะไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับอาชีพดังกล่าว พร้อมข้อมูลที่ควรรู้เพื่อให้การยื่นภาษีเป็นเรื่องง่าย

พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ไรเดอร์ ยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ ต้องยื่น ภ.ง.ด. 90/91 หรือไม่
ในยุคดิจิทัลที่ใคร ๆ ก็สามารถสร้างรายได้ผ่านช่องทางออนไลน์ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ไรเดอร์ ยูทูบเบอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ จึงกลายเป็นอาชีพยอดนิยมที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าอาชีพเหล่านี้ต้องยื่นภาษีด้วยหรือไม่ บทความนี้จะไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับอาชีพดังกล่าว พร้อมข้อมูลที่ควรรู้เพื่อให้การยื่นภาษีเป็นเรื่องง่าย
ใครบ้างที่ต้องยื่นภาษี ภ.ง.ด. 90/91?
บุคคลธรรมดาที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนด มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91
ภ.ง.ด. 90 สำหรับผู้ที่มีรายได้จากหลายทาง หรือมีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน เช่น
- รายได้จากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
- รายได้จากการขายของออนไลน์
- เงินปันผล
- ค่าเช่า
ภ.ง.ด. 91 สำหรับผู้ที่มีรายได้ประเภทเดียวคือเงินได้จากการจ้างงาน เช่น พนักงานบริษัท
พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ไรเดอร์ ยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ จัดอยู่ในกลุ่มที่ต้องยื่นภาษีหรือไม่?
คำตอบคือ "ใช่" พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ไรเดอร์ ยูทูบเบอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ จัดเป็นบุคคลที่มีรายได้ จึงต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเช่นเดียวกันแม้จะไม่มีเงินเดือนที่เท่า ๆ กันทุกเดือนก็ตาม โดยกรมสรรพากรกำหนดประเภทของรายได้ไว้หลากหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีวิธีการคำนวณที่แตกต่างกัน เช่น เงินได้ 40(1) คือ เงินได้จากสัญญาการจ้างงาน, 40(2) คือ เงินได้จากการรับจ้างทั่วไป, 40(8) คือ เงินได้จากการทำธุรกิจ หรือนักแสดง เป็นต้น
- พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ มีรายได้จากการขายสินค้า จัดเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 (มาตรา 40(8)) หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วย ส่วนการหักค่าใช้จ่ายสามารถหักได้ 2 วิธีคือ 1. การเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาในอัตรา 60% ของยอดขาย และ 2. เลือกหักค่าใช้จ่ายตามที่จ่ายจริง สิ่งสำคัญคือต้องเก็บหลักฐานรายรับรายจ่ายอย่างครบถ้วน เพื่อใช้ในการคำนวณภาษีอย่างถูกต้อง
- ไรเดอร์ มีรายได้จากการรับจ้างส่งอาหารหรือสินค้า จัดเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 (มาตรา 40(2)) กรณีถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% สามารถยื่นขอคืนภาษีหัก ณ ที่ จ่ายได้ ตอนยื่นภาษีประจำปี และที่สำคัญไรเดอร์ต้องขอใบ 50 ทวิ จากแพลตฟอร์มที่ตนรับจ้างด้วย สำหรับเป็นหลักฐานในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และขอคืนภาษี
- ยูทูบเบอร์/อินฟลูเอนเซอร์ มีรายได้หลายทาง เช่น
- รายได้จากยอดวิวและยอดผู้ติดตาม จัดเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 (มาตรา 40(8))
- รายได้จากการขายสินค้า / บริการของแบรนด์ตนเอง ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 (มาตรา 40(8))
- รายได้จากการรีวิวสินค้าหรือสปอนเซอร์ จัดเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 (มาตรา 40(2)) กรณีไม่มีพนักงานหรือรายจ่ายอื่น ๆ และเงินได้ประเภทที่ 8 (มาตรา 40(8)) กรณีมีพนักงาน มีออฟฟิศ เช่น ค่าจ้างคนตัดต่อ หรือค่าช่างแต่งหน้า เป็นต้น
- รายได้จากการโชว์ตัว จัดเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 (มาตรา 40(2)) กรณีไม่มีพนักงานหรือรายจ่ายอื่น ๆ และเงินได้ประเภทที่ 8 (มาตรา 40(8)) กรณีมีพนักงาน มีออฟฟิศ เช่น ค่าจ้างคนตัดต่อ หรือค่าช่างแต่งหน้า เป็นต้น
กรณีมนุษย์เงินเดือนที่เป็นยูทูบเบอร์/อินฟลูเอนเซอร์ด้วย ต้องนำรายได้ทั้งหมดมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่นำมาหักลดหย่อนภาษีได้?
ค่าใช้จ่ายที่นำมาหักลดหย่อนภาษีได้มีหลายประเภท ตัวอย่างเช่น
ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท, คู่สมรส 60,000 บาท, บุตร 30,000 บาท/คน, บิดามารดา 30,000 บาท/คน
- เช่น ประกันสังคม, ประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ, กองทุน RMF, SSF, กอช.
กระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ดอกเบี้ยบ้าน, Easy E-Receipt
บริจาค เช่น บริจาคพรรคการเมือง, บริจาคเพื่อการศึกษา/กีฬา/ศาสนา/สาธารณกุศล
เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลดหย่อน เช่น หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย, ใบกำกับภาษี, หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกัน, หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF, หนังสือรับรองดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย
สามารถตรวจสอบรายการลดหย่อนภาษีได้ด้วยตนเอง ผ่าน My Tax Account
หมายเหตุ: เงื่อนไขและรายละเอียดค่าลดหย่อนต่าง ๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลง ควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์กรมสรรพากร