การกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BoI) ที่ให้เพิ่มการแปลงสัญญาณดิจิทัล จะช่วยกระตุ้นการใช้สายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำและทำให้ไทยสามารถเลือกสายเคเบิลในภูมิภาคได้มากขึ้น
ซึ่งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา BoI ได้ระบุว่า สายเคเบิลใต้น้ำ เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจในระบบดิจิทัลที่มีสิทธิ์ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยมีวงเงินไม่เกิน 988 ล้านบาทเป็นเวลา 8 ปี โดยบริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทแรกที่ได้รับสิทธิพิเศษนี้ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ซิมโฟนี่ ก็ได้เปิดตัวระบบสายเคเบิลใต้น้ำระหว่างมาเลเซีย, กัมพูชา และไทย (MCT) รวมระยะทางกว่า 1,300 กิโลเมตร ด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้น 2 พันล้านบาท ผ่านการร่วมทุนกับคู่ค้าทั้ง 2 ประเทศที่กำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเหมือนกัน ซึ่งซิมโฟนี่ได้ลงทุนสถานีเชื่อมต่อสายเคเบิลในจังหวัดระยองแล้ว
นายธีรรัตน์ ปัณฑรสูตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพมากพอที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยเป็นทางผ่านสู่อินโดจีน ซึ่งถ้าเราสามารถเพิ่มจำนวนสายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำได้ จะทำให้เราลดค่าใช้จ่ายทางอินเทอร์เน็ตได้ โดยเดิมไทยมีสายเคเบิลอยู่ 6-7 สายเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของรัฐวิสาหกิจ จึงทำให้ค่าอินเทอร์เน็ตมีราคาแพงเป็น 3 เท่าเมื่อเทียบกับสิงคโปร์และมาเลเซีย
ดังนั้นถ้าไทยสามารถเพิ่มสายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำได้อย่างน้อยถึง 12 ระบบ ที่มีกำลังผลิตที่สูงขึ้นจะทำให้ลดต้นทุนได้ไม่มากก็น้อย แต่รัฐบาลจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ที่โปร่งใสเกี่ยวกับศูนย์ข้อมูลและระบบคลาวด์เพื่อให้มีนโยบายที่สอดคล้องกันและเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ
โดยระบบสายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ MCT จะสามารถส่งข้อมูลที่ความจุรวมสูงสุดถึง 30 เทราบิตต่อวินาที และรองรับเทคโนโลยีอีเธอร์เน็ต (Ethernet) 100 จิกะบิท พร้อมมุ่งเน้นระบบรักษาความปลอดภัยและความเสถียรภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล
Source : bangkokpost. https://www.bangkokpost.com/business/telecom/1335459/boi-benefits-drawing-in-cable-carriers
วันที่ 2018-11-16