เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับไขมันทรานส์หรือ Trans Fat ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของเครื่องหมายการค้าห้ามผลิต นำเข้าและจำหน่ายอาหารที่มีไขมันทรานส์ โดยประกาศฉบับนี้ส่งผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจที่จำหน่ายเบเกอรี่ ฟาสต์ฟู้ด ครีมเทียม เนย เป็นต้น เนื่องจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มีการทดสอบและระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty acid)” ที่เป็นไขมันอิ่มตัวเกิดจากน้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน (Partially Hydrogenated Oils) ทำให้น้ำมันพืชเดิมที่เป็นของเหลวแปรสภาพไปอยู่ในสถานะของแข็ง หรือที่หลาย ๆ คนเรียกกระบวนการนี้ว่า “ไฮโดรจีเนชั่น”
ทางการแพทย์ให้ความเห็นว่า ไขมันทรานส์เป็นไขมันที่สามารถทำลายสุขภาพของผู้บริโภคได้ง่ายดาย เพราะการที่เรารับไขมันทรานส์มากเกินไปมันจะเข้าไปทำลายการทำงานของระบบเอนไซม์ในร่างกาย และสามารถทำลายไขมันดีในร่างกายของเราลดลง ซึ่งเมื่อเรารับประทานไขมันชนัดนี้เข้าไปมันจะไปเกาะหรืออุดอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทำให้ตับของเราทำงานหนัก เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ ทั้งโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ไขมันอุดตันในหลอดเลือดและเส้นเลือด ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเหล่านี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงให้ความสำคัญกับไขมันทรานส์ โดยประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้อีก 180 วันหรือ 6 เดือน
เหตุผลนี้จึงทำให้เครื่องหมายการค้าที่ผลิต จำหน่ายและนำเข้าส่วนประกอบที่มีไขมันทรานส์จะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีในการผลิตสินค้าใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะกับร้านขนม ร้านกาแฟต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวของคนไทย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสูตรในครั้งนี้อาจส่งผลถึงราคาและรสชาติของสินค้า แต่ตอนนี้ก็มีหลายธุรกิจที่ปรับตัวและผลิต จำหน่ายสินค้าไร้ไขมันทรานส์กันแล้ว เช่น KFC, เบเกอรี่ของเทสโก้ โลตัส เป็นต้น สำหรับธุรกิจใหม่ที่กำลังจดทะเบียนธุรกิจหรือกำลังจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอาจต้องระวังและใส่ใจในส่วนประกอบต่าง ๆ ที่นำมาผลิตสินค้านั้นดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคด้วย เพราะว่าหากผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 50 ซึ่งระบุบทลงโทษไว้ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนซึ่งออกตามมาตรา 6 (8) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนจนถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 20,000 บาท
วันที่ 2018-11-16