พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ให้สิทธิเพิ่มเติมเพียบ เพิ่มอัตราค่าชดเชยเลิกจ้าง อายุงาน 20 ปี ได้ค่าชดเชย 400 วัน หญิงมีครรภ์ เพิ่มวันลาคลอดได้ 98 วัน พ่วงไฟเขียวลากิจธุระ 3 วัน โดยยังได้รับค่าจ้างตามปกติ
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 โดยมีเนื้อหาสำคัญ เช่น ลูกจ้างมีสิทธิลากิจได้ค่าจ้าง 3 วันทำงานต่อปี, ลาคลอดได้ ไม่เกิน 98 วัน และวันลาเพื่อคลอดบุตร ให้รวมวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรด้วย ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้ไม่เกิน 45 วัน
นายจ้างต้องกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ให้แก่ลูกจ้างที่มีลักษณะ คุณภาพ และปริมาณงานเท่ากัน ไม่ว่าลูกจ้างนั้นจะเป็นชายหรือหญิง
นอกจากนี้ ในกรณีนายจ้างหยุดกิจการทั้งหมด หรือบางส่วน ให้จ่ายชดเชยไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงาน โดยลูกจ้างที่ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน, 20 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มลูกจ้างที่มีอายุงาน 20 ปีขึ้นไป ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์หลังกฎหมายบังคับใช้ในช่วงปีแรก คาดว่าจะมีกว่า 3 แสนคน ซึ่งจะเป็นลูกจ้างในวัย 40 ปีขึ้นไป ทั้งนี้การออกกฎหมายฉบับดังกล่าว ถือว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้ามากกว่าประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียน เพราะขณะนี้กฎหมายด้านการคุ้ม ครองแรงงานของไทย นำหน้าประเทศเพื่อนบ้านกว่า 4-5 ประเทศ อาทิ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อีกทั้งบางประเทศก็ยังไม่มีค่าชดเชย เพราะไม่ได้เป็นข้อบังคับตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในส่วนของ กสร. ได้มีการดำเนินการเรื่องดังกล่าวมาตลอดตั้งแต่ที่ยังไม่มีการประกาศใช้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ หน้าที่ตามกฎหมายของนายจ้างและลูกจ้าง ทาง กสร.ได้มีการจัดอบรมหรือประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปัญหา อุปสรรค แนวทางแก้ไขและมาตรการบังคับใช้กฎหมาย แก่เจ้าหน้าที่ในกระทรวง และนายจ้าง ลูกจ้าง ได้ทราบถึงหลักการและเหตุผล รวมถึงเนื้อหาสาระสำคัญของกฎหมาย ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างถูกต้อง เพื่อให้ความคุ้มครองแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
วันที่ 2019-05-08