ไม่ว่าธุรกิจใดก็ตาม ต้องมีการซื้อซอฟต์แวร์ (Software) หรือโปรแกรม (Program) เพื่อนำมาใช้ในการทำงานภายในของธุรกิจ ซึ่งก็มักมีคำถามที่ค้างคาใจอยู่เสมอว่า ซอฟต์แวร์ที่ซื้อมาใช้ในกิจการนั้นสามารถนำมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายหรือบันทึกเป็นทรัพย์สินดี?
ซอฟต์แวร์คืออะไร? >> ซอฟต์แวร์ หรือ Software คือชุดคำสั่งข้อมูลหรือโปรแกรมที่ใช้ในการใช้งานคอมพิวเตอร์และทำงานเฉพาะเจาะจง ซึ่งตรงข้ามกับฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์เป็นคำทั่วไปที่ใช้เพื่ออ้างถึงแอปพลิเคชัน, สคริปต์และโปรแกรมที่ทำงานบนอุปกรณ์
ก่อนจะตัดสินใจว่าจะนำไปบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายหรือบันทึกเป็นทรัพย์สิน ต้องมาวิเคราะห์กันก่อนว่า เจ้าตัวซอฟต์แวร์ที่เราซื้อกันมานั้นจัดอยู่ในการลงทุนด้านเครื่องมือในการดำเนินงานของบริษัท และมีอายุการใช้งานมากกว่า 1 ปีหรือไม่ ถ้าหากว่าซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้อยู่ในลักษณะนี้ก็ถือเป็นการซื้อทรัพย์สินที่มีลักษณะเป็นการลงทุน แต่กรณีที่เป็นรายจ่ายที่จ่ายเพื่อการหากำไร หรือเป็นการจ่ายเพื่อก่อให้เกิดกำไร อันนี้เรียกว่าเป็นค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เรามองว่าเป็นการซื้อทรัพย์สิน เราต้องดูด้วยว่าทรัพย์สินนั้นมีอายุการใช้งานเท่าใด สามารถใช้งานได้นานแค่ไหน เพื่อนำมากำหนดอัตราค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินอีกที
แต่บางคนอาจจะคิดแค่ว่าซอฟต์แวร์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องคอมพิวเตอร์ จึงคิดอัตราค่าเสื่อมราคาในอัตรา 33.33% ดูแล้วเป็นตัวเลขที่ฟังแล้วดูดีอยู่เหมือนกัน แต่ในทางประมวลรัษฎากรกลับมองว่าเจ้า Software ที่ว่านี้เป็นเรื่องของลิขสิทธิ์ล้วน ๆ พอเป็นเรื่องของลิขสิทธิ์เราต้องกลับไปดูตารางอัตราค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินตามที่กฎหมายกำหนด จึงพบว่าค่าลิขสิทธิ์นั้นกฎหมายกำหนดให้หักค่าเสื่อมราคาได้ในอัตรา 10% เท่านั้น หากคิด 33.3% เหมือนหักค่าเสื่อมราคาเครื่องคอมพิวเตอร์อาจจะโดนสรรพากรเรียกตรวจสอบและอาจทำให้ต้องเสียค่าปรับภาษีเพิ่มจากเดิมอีกด้วย
วันที่ 2019-10-24