
การสะสมเงินเข้ากองทุนถือเป็นการเก็บรายได้ส่วนหนึ่งไว้ใช้หลังเกษียณ ดังนั้นเมื่อคุณสะสมเงินเข้ากองทุนสามารถขอรับเงินส่วนนี้ได้ ซึ่งรายละเอียดการรับเงินส่วนนี้จะเป็นอย่างไร เรามาทำความเข้าใจข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกองทุนประกันสังคมกันเลย
กองทุนประกันสังคม คืออะไร?
กองทุนที่ผู้ประกันตน หรือมนุษย์เงินเดือน ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งต้องมีรายได้และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน เพื่อเป็นหลักประกันในการดำเนินชีวิต ตัวอย่างหลักประกันเช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเลี้ยงดูบุตร เงินชดเชยกรณีว่างงาน เงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญ เป็นต้น
โดยผู้ประกันตนทุกคนมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยหักจากเงินเดือนในอัตรา 5 % ตัวอย่างเช่นได้รับเงินเดือน 10,000 บาท ก็จะถูกหัก 5% จากเงินเดือนหรือหักเงิน 500 บาทเข้ากองทุนประกันสังคม ซึ่งเงินที่หักเข้ากองทุนประกันสังคมสูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน
เมื่อไหร่ที่เราจะได้รับเงินคืนจากประกันสังคม
การที่เราจะได้รับเงินคืนจากประกันสังคมนั้นขึ้นอยู่กับอะไรหลาย ๆ อย่างด้วยกัน ได้แก่ อายุ, สถานะความเป็นผู้ประกันตน, จำนวนเดือนที่จ่ายเงินสมทบ เป็นต้น ซึ่งวิธีการได้รับเงินคืนจากประกันสังคมมี 3 กรณีด้วยกัน ดังต่อไปนี้
-
กรณีที่ 1 : ผู้ประกันตนจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเกิน 180 เดือนและต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงจะได้รับเงินรายเดือนใช้ตลอดชีวิต ซึ่งการคำนวณเงินบำนาญชราภาพจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบ และค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ไม่เกิน 15,000 บาท) แต่ถ้าจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน จะได้รับเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน
-
กรณีที่ 2 : จ่ายเงินสมทบมากกว่า 12 เดือน แต่ไม่เกิน 180 เดือนและมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง จะได้รับเงินบำเหน็จเท่ากับจำนวนเงินสมทบของตนเอง บวกกับเงินสมทบในส่วนของนายจ้างและรัฐบาล และผลประโยชน์ตอบแทน (ผลกำไรจากกองทุนประกันสังคมนำเงินไปลงทุน)
-
กรณีที่ 3 : จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 12 เดือนและมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง จะได้รับเงินบำเหน็จ (เงินก้อนครั้งเดียว) เท่ากับจำนวนเงินที่จ่ายสมทบกองทุนประกันสังคม ตัวอย่างเช่น จ่ายเงินสมทบของตนเอง 750 บาท/เดือน ในระยะเวลา 11 เดือน ดังนั้นผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำเหน็จเท่ากับ 750*11 หรือ 8,250 บาท
วันที่ 2019-11-01