Logo-สำนักงานบัญชี-ARAC
สรรพากร ชี้แจงการยกเว้นภาษีจากการแก้ไขประกาศ ฉบับที่ 4 และ ฉบับที่ 5
Date : 18/01/2021
กรมสรรพากรชี้แจงกรณีการยกเว้นภาษีจากการแก้ไขประกาศของกรมสรรพากร (ฉบับที่ 4) และ (ฉบับที่ 5) เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนใน

          กรมสรรพากรชี้แจงกรณีการยกเว้นภาษีจากการแก้ไขประกาศของกรมสรรพากร (ฉบับที่ 4) และ (ฉบับที่ 5) เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนใน 2 กรณี ตามที่สื่อมวลชนบางฉบับได้เรียกร้องให้ออกมาชี้แจง ได้แก่
          1. การยกเว้นภาษีทั้งหมดในการโอนที่ดินส่วนตัวเข้าบริษัท จากที่ต้องเสียภาษีร้อยละหกของมูลค่าที่ดิน มาเป็นการเก็บแค่ค่าธรรมเนียมการโอนแค่เพียงร้อยละ 0.1 ซึ่งทำให้ภาษีของรัฐหายไปทันที 6 หมื่นล้านบาท
          2. มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนในการให้นำเอาที่ดินมาตีมูลค่าทางการตลาดมาคำนวณต้นทุนค่าเสื่อมราคา ยิ่งทำให้รัฐสูญเสียเงินภาษีไปอีก 2 แสนล้านบาท ส่งผลให้การดำเนินการดังกล่าว ภาครัฐต้องสูญเสียภาษีรวมถึง 2.6 แสนล้านบาท นั้น
กรมสรรพากร ขอเรียนว่า
          1. กรมสรรพากรได้ชี้แจง การออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 4) และ (ฉบับที่ 5) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากร แสตมป์ ซึ่งออกตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560 ผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากร และสื่อสังคมออนไลน์ ตามเลขที่ข่าว ปชส. 3/2561 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ว่ารัฐบาลโดยกระทรวงการคลังมีนโยบายส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาเปลี่ยนรูปแบบในการ ประกอบธุรกิจเป็นนิติบุคคล อันเป็นการสร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมในการเสียภาษี โดยได้ออกประกาศอธิบดี กรมสรรพากร (ฉบับที่ 5) กำหนดให้ราคาของทรัพย์สินที่โอนประเภทที่ดินและที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ต้องโอน ด้วยราคาประเมินทุนทรัพย์ หรือราคาต้นทุนการซื้อ แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า จากเดิมที่กำหนดให้ทรัพย์สิน ทุกประเภทให้โอนด้วยราคาตลาด


           2. เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนรูปแบบเป็น นิติบุคคล กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศว่า กระทรวงมหาดไทยจะลดค่าธรรมเนียมในการโอนจากร้อยละ 2 ของราคาประเมิน ลงเหลือร้อยละ 0.01 ของราคาประเมิน ทั้งนี้ การออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 5) เป็นการกำหนดราคาโอนที่ดินที่ใช้เป็นทุนของนิติบุคคลที่ตนตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งประกาศดังกล่าวไม่ได้ กำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงฐานในการคำนวณค่าธรรมเนียมการโอนของกระทรวงมหาดไทย จึงมิได้ส่งผลกระทบ ต่อผลการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการโอนของกระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใด


           3. การอ้างว่า การกำหนดให้ตีมูลค่าที่ดินตามราคาตลาด ทำให้สามารถคำนวณต้นทุนค่าเสื่อมราคาได้มาก และจะทำให้รัฐสูญเสียเงินภาษีนั้น ขอเรียนว่าทรัพย์สินประเภทที่ดิน ไม่มีการคำนวณค่าเสื่อมราคา และไม่สามารถนำค่าเสื่อมราคามาใช้เป็นรายจ่ายทางภาษีได้ ดังนั้น การกำหนดให้ทรัพย์สินประเภทที่ดินต้องโอน ด้วยราคาประเมินทุนทรัพย์ หรือราคาต้นทุนการซื้อ แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่าตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 5) จึงไม่ส่งผลกระทบต่อภาษีสูญเสียกรณีการคำนวณค่าเสื่อมราคาที่ดิน


           4. การดำเนินการแก้ไขประกาศอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าว มิได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ กลุ่มทุนแต่อย่างใด แต่เพื่อทำให้การปฏิบัติตามกฎหมายมีความชัดเจน และลดข้อโต้แย้ง เพื่อเป็นการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดา ประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคลมากยิ่งขึ้น อันเป็นการแสดงผลการประกอบการที่แท้จริงในการประกอบกิจการ รวมทั้ง สร้างความโปร่งใส และเป็นธรรมในการเสียภาษีอีกด้วย 

           หากผู้เสียภาษีมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่ง หรือศูนย์สารนิเทศ สรรพากร โทร. 1161

 

แหล่งที่มา : กรมสรรพากร

เผยแพร่เมื่อ 16 พ.ย. 2018

บริการ
ข่าว
Copyright © 2024 A.R. Accounting Consultant Co., Ltd. All Right reserved. Privacy Notice  Privacy Policy  Cookies Policy