ใกล้เข้ามาแล้วกับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ต้องทำการแสดงรายการภาษีว่ามีรายได้ และต้องเสียภาษีเท่าไหร่ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งอย่าลืมว่าในปีนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จะใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2560 เป็นต้นไป มาดูกันสักนิดจะได้เสียภาษีได้ถูกต้อง มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายของเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า ฯลฯ
เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร จากเดิมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เป็นร้อยละ 50 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
ปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร
จากเดิมให้หักได้เฉพาะค่าแห่งลิขสิทธิ์ โดยให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 ของค่าแห่งลิขสิทธิ์ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท ขยายเพิ่มให้ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิ์อย่างอื่น สามารถหักค่าใช้จ่าย เป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 ของเงินได้ดังกล่าวแต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้
ปรับปรุงการหักค่าลดหย่อน
- ค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรส จากเดิม 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนบุตรจากเดิม 15,000 บาท จำนวนบุตรไม่เกิน 3 คน เป็นคนละ 30,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร และได้ทำการยกเลิกค่าลดหย่อนการศึกษาบุตร
- ถ้าหากคู่สมรส ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 120,000 บาท
- กองมรดกสามารถลดหย่อนได้ 60,000 บาท
- ห้างหุ้นส่วนสามารถ หรือกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล สามารถลดหย่อนได้ 60,000 บาท แต่ไม่เกิน 120,000 บาท
ปรับปรุงขั้นเงินได้ และบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
มีการปรับขั้นเงินได้สุทธิ 2,000,001 – 5,000,000 บาท อัตราภาษีร้อยละ 30 และ 5,000,001 ขึ้นไป อัตราภาษีร้อยละ 35 เท่านั้น ส่วนเงินได้สุทธิต่ำกว่า 2,000,000 บาท ยังคงมีอัตราภาษีเท่าเดิม ดังนี้
- 1 – 300,000 บาท อัตราภาษีร้อยละ 5
- 300,001 – 500,000 บาท อัตราภาษีร้อยละ 10
- 500,001 – 750,000 บาท อัตราภาษีร้อยละ 15
- 750,001 – 1,000,000 บาท อัตราภาษีร้อยละ 20
- 1,000,001 – 2,000,000 บาท อัตราภาษีร้อยละ 25
หมายเหตุ : การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้สุทธิ 150,000 บาท ยังคงใช้ต่อไปตามประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ฉบับที่ 470 พ.ศ. 2551
ปรับปรุงเงินได้พึ่งประเมินขั้นต่ำ
- เงินได้จากการจ้างแรงงาน เช่นเงินเดือน หรือค่าจ้าง เพียงอย่างเดียว
ในกรณีผู้มีเงินได้เป็นโสด ต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 100,000 บาท และในกรณีมีคู่สมรส ต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 200,000 บาท
- เงินได้จากการจ้างแรงงาน เช่นเงินเดือน หรือค่าจ้าง และมีรายได้ประเภทอื่นด้วย
ในกรณีที่โสดต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท และในกรณีมีคู่สมรส ต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 120,000 บาท
- กองมรดกของผู้ตาย ที่ยังไม่ได้ทำการแบ่ง ต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้ 60,000 บาท
- กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ต้องยื่นแบบเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ที่กรมสรรพกรทุกพื้นที่ หรือศูนย์บริการข้อมูลสรรพากร RD Call center โทร. 1161
เผยแพร่เมื่อ 14 ก.พ. 2018