หลังจากมีการประกาศใช้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อกำกับดูแลผู้ประสงค์ร้ายนำทรัพย์สินดิจิทัลไปหลอกลวงประชาชนหรือเป็นแหล่งฟอกเงิน อีกทั้งยังเป็นการกำกับและควบคุมการซื้อ, ขาย, แลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลให้มีความเป็นระเบียบอีกด้วย โดยในปัจจุบันการซื้อขาย “เงินดิจิทัล” เข้ามามีบทบาทมากขึ้นอย่างมากในอินเทอร์เน็ต ซึ่งนอกจากจะเป็นการกำกับดูแลแล้ว ทางกรมสรรพากรยังได้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 19 พ.ศ. 2561 เพื่อเรียกเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย
กรมสรรพากร กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลได้กำหนดให้เงินที่เป็นส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์ใด ๆ ก็ตามที่ได้รับจากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล รวมถึงผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหรือแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือโทเคนดิจิทัล (Digital token) ที่เรารู้จักกันในชื่อเต็มว่า ICO (Initial Coin Offering) ซึ่งเมื่อตีราคาแล้วได้เกินกว่าเงินลงทุน จะต้องเสียภาษีในอัตราที่กฎหมายได้กำหนด โดยกำหนดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้พึ่งประเมินตามมาตรา 40(4) ในอัตรา 15% ของเงินได้
สำหรับอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอยู่ระหว่างการดำเนินการเสนอกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี รวมถึงกฎหมายยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย นอกจากนี้กรมสรรพากรกำลังหารือกับตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านนายหน้าหรือศูนย์ซื้อขายที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล
Source : กรมสรรพากร, ราชกิจจานุเบกษา, ไทยรัฐ
เผยแพร่เมื่อ 16 พ.ย. 2018