Logo-สำนักงานบัญชี-ARAC
LTF: END GAME ….หรือไม่ ??
Date : 25/01/2021
หลาย ๆ คนคงจะพอทราบดีเกี่ยวกับมาตรการลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้ซื้อกองทุน LTF ซึ่งเป็นมาตรการที่อยู่กับพวกเรามาตั้งแต่ปี 2547

        หลาย ๆ คนคงจะพอทราบดีเกี่ยวกับมาตรการลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้ซื้อกองทุน LTF ซึ่งเป็นมาตรการที่อยู่กับพวกเรามาตั้งแต่ปี 2547 มาจนถึงปีนี้รวม 16 ปีแล้ว และในปีนี้มีแนวโน้มสูงมากที่ผู้ที่ซื้อ LTF จะใช้ประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีเป็นปีสุดท้ายแล้ว...?

 

ก่อนที่จะอธิบายต่อ ผมขอเล่าที่มาของกองทุน LFT ให้ฟังคร่าว ๆ ดังนี้

        ในปี 2547 รัฐบาลในขณะนั้น ดำเนินการโดยกระทรวงการคลัง มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนของประชาชนโดยให้ลงทุนผ่านกองทุน ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะทำให้ตลาดหลักทรัพย์มีเสถียรภาพมากขึ้นด้วย โดยออกกฎกระทรวงให้ผู้ที่ลงทุนในกองทุนหุ้นระยะยาว (หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “LTF” ซึ่งย่อมาจาก “Long Term Equity Fund”) สามารถเอาเงินลงทุนดังกล่าวมาเป็นรายการลดหย่อนภาษีได้

 

        การลดหย่อนภาษีนี้ มีเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งทางรัฐบาลได้ออกกฎกระทรวงปรับเปลี่ยนมาตลอด จนกระทั่งล่าสุดคือ กฎกระทรวงฉบับที่ 317 ประกาศในปี 2559 ซึ่งสรุปได้ดังนี้

  1. จำนวนเงินลงทุนไม่เกิน 15% ของรายได้ และไม่เกิน 500,000 บาท
  2. ผู้ลงทุนต้องไม่ขายก่อน 7 ปีปฏิทิน
  3. กำหนดให้ใช้ลดหย่อนภาษีได้ถึง ปี 2562

ถึงวันนี้ยังไม่มีกฎกระทรวงใหม่ออกมา นั่นแสดงว่า การลงทุนใน LTF จะใช้ลดหย่อนภาษีได้เป็นปีสุดท้าย

        เนื่องจากมีหลายเหตุผลที่มาตรการ LTF นี้จะไม่ได้ไปต่อ หนึ่งในนั้นก็คือ มีเสียงวิจารณ์ว่ามาตรการนี้เอื้อประโยชน์ให้คนที่มีรายได้สูงซึ่งเป็นคนส่วนน้อย และไม่ได้กระจายประโยชน์ที่ได้ให้กับประชาชนส่วนใหญ่ ถ้าจะกล่าวให้เห็นภาพมากขึ้นว่าการลงทุนในกองทุน LTF ให้ประโยชน์กับใครมากที่สุดคงต้องดูคู่กับตารางด้านล่างนี้

 

จากเงื่อนไขการลงทุนที่กำหนดไว้ หากมาวิเคราะห์ว่าใครได้รับประโยชน์ทางภาษีเท่าไร ผมสรุปได้ดังนี้

        คอลัมน์สีเหลือง คือการเปรียบเทียบภาษีที่ต้องจ่าย (1) หากไม่ลงทุน LTF และ (2) หากลงทุน LTF ส่วนคอลัมน์สีเขียวคือภาษีที่ประหยัดได้

        หากนำมาวิเคราะห์แล้ว คนที่มีรายได้ยิ่งมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้ประหยัดภาษีได้มากกว่าคนที่มีรายได้น้อย เช่น คนที่มีเงินเดือน 300,000 บาท ลงทุน LTF ได้เต็มเพดานสูงสุด 500,000 บาท จะประหยัดภาษีได้ถึง 150,000 บาท หรือ 30% ของเงินลงทุน หรือต้นทุนเงินลงทุน 500,000 บาทจะลดลงเหลือเพียง 350,000 บาท ถึงแม้เมื่อผ่านไป 7 ปีปฏิทิน (นับเวลาจริงๆ 5 ปี คือซื้อปลายปีที่ 1 ขายต้นปีที่ 7) ถ้าตลาดหุ้นไม่ดีราคาหุ้นตกลงไป ขายแล้วอาจขาดทุนบ้างก็ตาม ก็มีเงินสำรองเผื่อขาดทุนไว้แล้วถึง 150,000 บาท

 

        อย่างไรก็ตาม ทุก ๆ สถาบันการเงินจะระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง” แต่เมื่อพิจารณาถึงผลงานตั้งแต่ 16 ปีที่แล้ว เมื่อมีกองทุน LTF ออกมาใหม่ ๆ ทุกคนที่ลงทุนซื้อตั้งแต่ตอนนั้น คงได้ขายทำกำไรไปกว่า 100% ไปแล้ว ผมมีตัวอย่างข้อมูลกองทุนที่ผมเคยซื้อไว้เองของกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว (B-LTF) เปิดเมื่อปี 2547 ในราคาหน่วยละ 10.00 บาท ปัจจุบัน ราคา ณ วันที่ 31 ต.ค. 2562 อยู่ที่ 41.7056 บาท กำไรถึง 317% ซึ่งกำไรในส่วนนี้ไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย (ข้อมูลจาก www.bblam.com)

        การที่รัฐบาลให้ผู้ลงทุน LTF สามารถลดหย่อนภาษีในปีนี้เป็นปีสุดท้าย อาจจะทำให้หลายคนลังเลใจว่าปีนี้ควรจะลงทุนหรือไม่ ผมขอแนะนำให้ลงทุนไปเลยครับ เพราะเราได้ลดหย่อนภาษีเลยแน่ ๆ ในปีนี้ ส่วนจำนวนเงินจะมากหรือน้อยตามตารางข้างต้น

        กองทุน LTF จะไม่ได้ปิดตัวไปถึงแม้ขนาดของกองทุนจะค่อย ๆ เล็กลงไปเรื่อย ๆ เพราะปีต่อ ๆ ไปจะมีผู้ลงทุนใหม่เข้ามาน้อย แต่ผลกระทบจากราคาต่อหน่วย (NAV) ของกองทุน LTF ไม่ได้กระทบกับขนาดของกองทุนโดยตรง เพราะราคากองทุนขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารของผู้จัดการกองทุน และมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนหารด้วยจำนวนหน่วยลงทุนอยู่แล้ว

        ช่วงนี้ตลาดหุ้นอยู่ในช่วงขาลงพอดี น่าจะเป็นโอกาสเหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ลงทุน LTF  ซื้อแล้วเราต้องถือไว้ 7 ปีปฎิทินนะครับ แล้วมาลุ้นเอาว่าปี 2569 ตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร 

 

เขียนบทความโดย

ประยูร รัตนไชยานนท์

บริษัท เอ.อาร์.แอ็คเคานติ้ง คอนซัลแตนท์ จำกัด

สำนักงานบัญชีคุณภาพ และที่ปรึกษาภาษี

www.arac.co.th

เผยแพร่เมื่อ 07 พ.ย. 2019

บริการ
ข่าว
Copyright © 2024 A.R. Accounting Consultant Co., Ltd. All Right reserved. Privacy Notice  Privacy Policy  Cookies Policy