Logo-สำนักงานบัญชี-ARAC
เตรียมยื่นภาษี รายได้เท่าไหร่ต้องยืนภาษี หักค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
Date : 25/01/2021
กลับมาอีกครั้งกับช่วงยื่นภาษีและเสียภาษี ซึ่งมนุษย์เงินเดือนจะต้องทำการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเป็นประจำทุก ๆ ปี

       กลับมาอีกครั้งกับช่วงยื่นภาษีและเสียภาษี ซึ่งมนุษย์เงินเดือนจะต้องทำการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเป็นประจำทุก ๆ ปี แม้ว่ารายได้จะไม่ถึงเกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่จะต้องเสียภาษีก็ตาม

       “ยื่นภาษีต้องมีรายได้เท่าไหร่?” นี่เป็นคำถามที่เราพบเจอบ่อยมาก สำหรับใครที่กำลังงงว่ารายได้ของตัวเองถึงเกณฑ์ต้องยื่นภาษีไหม วันนี้เราได้รวบรวมคำตอบไว้ให้คุณแล้ว โดยจะแบ่งเงินได้บุคคลธรรมดาออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน ดังนี้

  • ประเภทแรกคือ สำหรับคนที่ได้เงินเดือนเพียงอย่างเดียว สถานะภาพโสดมีรายได้เกิน 120,000 บาท/ปี และสถานะภาพสมรสมีรายได้เกิน 220,000 บาท/ปี ต้องยื่นภาษี
  • ประเภทสองคือ สำหรับเงินได้อื่น ๆ สถานะภาพโสดมีรายได้เกิน 60,000 บาท/ปี และสถานะภาพสมรสมีรายได้เกิน  120,000 บาท/ปี ต้องยื่นภาษี

         ต่อมาอีกเรื่องที่เราทุกคนงงกันอีกก็คือ การหักค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบในการคำนวณภาษี เพื่อที่เราจะได้ยอดคงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อน แล้วเสียภาษีต่อไป

         ก่อนอื่นการหักค่าใช้จ่าย จะถูกแบ่งออกเป็น 8 ประเภทด้วยกันตามประเภทเงินได้พึงประเมิน ซึ่งจะมีการหักค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันไป โดยผู้มีเงินได้สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบด้วยกัน ได้แก่ การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา จะถูกกำหนดไว้เป็นอัตราร้อยละตามที่กฎหมายกำหนด และการหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร มีดังต่อไปนี้

  • เงินได้ประเภทที่ 1 : เงินได้จากการจ้างแรงงาน ได้แก่ เงินเดือน โบนัส เบี้ยเลี้ยง เป็นต้น หักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • เงินได้ประเภทที่ 2 : เงินได้จากตำแหน่งงานที่ทำ อาทิเช่น ค่านายหน้า หรือค่าธรรมเนียม เป็นต้น หักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

หมายเหตุ : หากมีเงินได้ทั้งประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ต้องเอาทั้งสองประเภทมารวมกันหักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

  • เงินได้ประเภทที่ 3 : ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ หรือค่าลิขสิทธิ์ หักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท หรือหักตามจ่ายจริง
  • เงินได้ประเภทที่ 4 : ดอกเบี้ย เงินปันผล ส่วนแบ่งกำไรและอื่น ๆ ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้
  • เงินได้ประเภทที่ 5 : เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ดังนี้
  1. บ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง แพ และยานพาหนะ : หักค่าใช้จ่ายได้ 30%
  2. ที่ดินที่ใช้ในการเกษตร : 20%
  3. ที่ดินที่ไม่ได้ใช้ในการเกษตร : 15%
  4. ทรัพย์สินอื่น ๆ : 15%
  5. การผิดสัญญาเช่าซื้อ การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน : อันนี้ต้องหักแบบเหมาอย่างเดียวได้ 20%
  • เงินได้ประเภทที่ 6 : วิชาชีพอิสระ แบ่งหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งตามจริงและแบบเหมา แบ่งออกเป็น
  1. การประกอบโรคศิลปะ : 60%
  2. วิชากฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี หรือประณีตศิลปกรรม : 30%
  • เงินได้ประเภทที่ 7 : เงินได้จากการรับเหมา : หักค่าใช้จ่ายได้ 60% ทั้งตามจริงและแบบเหมา
  • เงินได้ประเภทที่ 8 : รายได้อื่น ๆ นอกเหนือจากเงินได้ประเภทที่ 1-7 : หักค่าใช้จ่ายได้ทั้งตามจริงและเหมา ในอัตรา 40% และ 60%

 

อย่าลืมหักค่าใช้จ่ายก่อนนำยอดทั้งหมดไปหักลดหย่อนภาษี เพื่อให้ได้เงินได้สุทธิไปคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

เผยแพร่เมื่อ 16 ม.ค. 2020

บริการ
ข่าว
Copyright © 2024 A.R. Accounting Consultant Co., Ltd. All Right reserved. Privacy Notice  Privacy Policy  Cookies Policy