เมื่อปีที่แล้วได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. แก้ไขประมวลรัษฎากรฉบับที่ 48 หรือภาษีกฎหมาย e-payment โดยมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมีนาคม 2562 เป็นที่ทราบกันดีว่ากฎหมายนี้เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากในปัจจุบันการชำระเงินแบบ PromptPay เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการโอนเงินและรับเงินของประชาชน อีกทั้งตอนนี้รัฐบาลยังหันมาให้ความสนใจกับการก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอีกด้วย
ดังนั้นเพื่อการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีการติดตามและตรวจสอบข้อมูลการรับฝากและโอนเงินในรูปแบบนี้ด้วย
ใครเป็นคนรายงานการทำธุรกรรมฝากและโอนเงิน
ในพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) ระบุว่า ธนาคาร สถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นคนรายงาน “ธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ” พร้อมทั้งรายงานข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะให้แก่กรมสรรพากร เพื่อทำให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย
*ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ คือ ธุรกรรมที่เกิดจากการฝาก หรือรับโอนเงิน รวมกันทุกบัญชีภายใน 1 ปี
อย่างที่ทราบ แม้จะมีผลต่อการยื่นภาษีฯ ในปี 2564 แต่เหล่าธนาคาร สถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จะต้องดำเนินการส่งบัญชีธนาคารให้แก่กรมสรรพากรภายในเดือนมีนาคม 2563 ถ้าหากไม่ทำการส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรจะถูกปรับหนึ่งแสนบาท และปรับต่อวันละหนึ่งหมื่น!!
กรมสรรพากรจะได้รับข้อมูลอะไรบ้าง
จากการเก็บข้อมูลธุรกรรมกับบัญชีธนาคาร ทางกรมสรรพากรจะได้ข้อมูลดังต่อไปนี้
- เลขประจำตัวประชาชน ชื่อและนามสกุลของเจ้าของบัญชี
- เลขที่บัญชีเงินฝาก
- จำนวนครั้งของการฝาก/รับโอนเงิน
- ยอดรวมของการฝาก/รับโอนเงิน
ธุรกรรมลักษณะเฉพาะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
- ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้ง ไม่สนใจยอดรวมว่าเป็นจำนวนเท่าไร
- ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมตั้งแต่ 2 ล้านบาท
ธนาคาร สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ต้องส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรภายในเดือนมีนาคมปีถัดไป (เริ่ม 31 มีนาคม 2563)
เผยแพร่เมื่อ 27 ม.ค. 2020